กระทรวงสาธารณสุข - นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขความขัดแย้งในร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขว่า ล่าสุดได้แต่งตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความสมาฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุขแล้ว โดยได้เซ็นลงนามไปเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา มี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานในการอำนวยการประชุมเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และมีทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและผู้รับบริการเข้าร่วมเป็นกรรมการ รวมทั้งสิ้น 63 คน
ทั้งนี้กรรมการจะมีทั้งผู้แทนฝ่ายสภาวิชาชีพ 6 แห่ง ตัวแทนมหาวิทยาลัยแพทย์ อาทิโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงการณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นต้น ผู้แทนแพทย์สังกัด กทม.ทหาร ตำรวจ องค์กรแพทย์ อาทิ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมแพทย์คลินิกไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เป็นต้น
"วาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ. ยังไม่ชัดเจนว่าจะเข้าสู่การพิจารณาเมื่อใด แต่ยังอยู่ในช่วงกลางๆ และมีเวลาที่คณะกรรมการฯ ยังหารือกันได้ เชื่อว่าปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปแล้วเสร็จโดยเร็ว"รมว.สาธารณสุข กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ส่วนที่มีการเสนอให้ขยายมาตรา41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น เรื่องนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องหาข้อสรุปก่อน เพราะขณะนี้ยังมีความเห็นไม่ตรงกันอยู่ เพราะบางฝ่ายเห็นว่าดำเนินการได้ บางฝ่ายเห็นว่าดำเนินการไม่ได้ อย่างไรก็ตามถือเป็นประเด็นที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะต้องเป็นผู้พิจารณา และตนจะสอบถามไปยังสปสช. ในวันประชุมบอร์ดกลางเดือนก.ย. นี้
ต่อข้อซักถามว่า ในการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความสมาฉันท์ 63 คนนี้ สัดส่วนระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการมีความสมดุลกับหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้ฯ เป็นแค่การหาข้อสรุปร่วมกัน จำนวนจึงไม่สำคัญเพราะไม่มีการลงมติ ดังนั้นเรื่องจำนวนจึงไม่อยากให้นำมาเป็นประเด็น
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า การประชุมจะพยายามให้เร็วที่สุดและรอบครอบ เพื่อให้ได้ข้อสรุปแล้วจะไม่มีประเด็นไปคัดค้านภายนอกอีก ส่วนที่ทางแพทย์จะทำประชาพิจารณ์บุคลากรในสาธารณสุขก่อนนั้น เรื่องนี้ได้พูดคุยแล้วว่า จะทำประชาพิจารณ์ ก็ได้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีกต่อไป แต่ต้องเร่งรัดให้เร็วที่สุดแล้วจึงนำมาหารือในคณะกรรมการฯ เพื่อให้ได้ข้อสรุปทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันต่อไป
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ทางเครือข่ายไม่มีปัญหาเรื่องสัดส่วนของคณะกรรมการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในระบบบริการสาธารณสุข เพราะเปิดกว้างให้ใครจำนวนเท่าใดก็ได้สามารถเข้ามาพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันและสามารถผลักดันให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายฉบับนี้ออกมา เพราะในขณะนี้มีผู้ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุขรอความช่วยเหลืออยู่ ซึ่งในส่วนของเครือข่ายได้เสนอชื่อสมาชิกเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการด้วยทั้งสิ้น 6คน แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดว่า มีส่วนของเครือข่ายเข้าไปเป็นคณะกรรมการกี่คน แต่ก็ไม่มีปัญหา
"ในช่วงแรกเราพยายามทำความเข้าใจพยายามให้โอกาสแต่วันนี้ได้มีการเลื่อนวาระการพิจารณากฎหมายฉบับนี้จากวาระเร่งด่วนที่10 เป็นวาระที่ 27 ตามที่นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม วิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ ดังนั้นก็เป็นสิทธิที่เราจะเคลื่อนไหวได้ เพราะฝ่ายแพทย์ที่ต่อต้านร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้รุกคืบเข้ามา ขณะที่รัฐบาลก็นิ่งเฉยแล้วดันหลังให้เรามาคุยกันเอง แต่อย่างไรก็ตาม เราจะรอผลการประชุมของคณะกรรมการ 2 ฝ่าย ที่รมว.สาธารณสุขตั้งขึ้นมาก่อนว่าจะมีความจริงใจมากน้อยเพียงใด เพราะถ้าไม่จริงใจก็เป็นสิทธิที่เราจะเคลื่อนไหว "นางปรียนันท์ กล่าว
ข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 31 ส.ค.53