บริการสุขภาพ

สธ.ลุยแก้กฎหมายรองรับเป็น “เมดิคัล ฮับ”

สธ.ลุยแก้กฎหมายรองรับเป็น “เมดิคัล ฮับ” มติ คกก.สาธารณสุข ชี้ “สปา” เป็นกิจกรรมที่อันตรายต่อสุขภาพ อาจต้องควบคุมพิเศษ หรือต้องเปลี่ยนชื่อกันผู้ใช้บริการวิตก



จากการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค.มีการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานตามนโยบาย เมดิคัล ฮับ (Medical Hub) ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ 1.กฎหมายในการบริการรักษาพยาบาล นั่นคือ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2551 โดยจำต้องแก้ไขคำจำกัดความของ “สถานพยาบาล” ในมาตราที่ 4 เพื่อให้สถานพยาบาลสามารถดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้กับแพทย์ประจำบ้าน, การทำวิจัยและพัฒนาทางคลินิก, การจัดบริการสปาเพื่อสุขภาพ รวมทั้งการให้สถานพบายาบาลสามารถเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาจัดให้ บริการในศาสตร์แพทย์ทางเลือก ซึ่งจะต้องแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 มาตรา 30(7) ซึ่งขณะนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะดำเนินการยกร่างข้อกฎหมายแล้วเสร็จในเดือน ต.ค.นี้ และหลังจากนั้น จะดำเนินการทำประชาพิจารณ์ก่อนที่จะเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณ สุข (สธ.) ต่อไป 2.การแก้ไข พ.ร.บ.ยา ในมาตรา 13(5) เพื่อแก้ปัญหาการไม่สามารถสั่งยาแผนปัจจุบัน ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อนำมาใช้ในการวิจัยหรือใช้สำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในส่วนการยกร่าง พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ....

ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ประมาณปลายเดือน ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะสามารถนำร่าง พ.ร.บ.สถานประกอบการฯ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ภายในปีนี้

นอกจากนี้ ในส่วนของกิจการสปา ซึ่งปัจจุบันต้องอยู่ภายใต้ประกาศ สธ.เรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ฉบับที่ 4) ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 จึงมีผลต่อภาพลักษณ์ของการให้บริการสุขภาพ ทั้งนี้คณะกรรมการสาธารณสุข ได้ มีมติเกี่ยวกับกิจการสปา 2 กรณี คือ 1.ให้คงกิจการสปาไว้ในกลุ่มที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อไป เพราะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพ เป็นการกระทำต่อมนุษย์ ผู้ให้บริการต้องผ่านการอบรมที่ถูกต้อง จึงจำเป็นต้องควบคุม กำกับ เพื่อให้สถานประกอบการจัดให้มีบริการที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 2.ให้แก้ไขชื่อ “กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” เป็น “กิจการที่ต้องควบคุมเพื่อคุ้มครองสุขภาพ” เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนผู้ใช้บริการกังวลและหวาดกลัว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของ คณะอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.การสาธารณสุข ของกรมอนามัย กำลังพิจารณาแก้ไขอยู่

ด้าน นพ.สถาพร วงษ์เจริญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้มีการรายงานความคืบหน้าในการแก้ไขเรื่องข้อกฎหมายต่างๆที่ยังติดขัดอยู่ เป็นการรายงานตามปกติ ซึ่งทาง รมว.สธ.ก็บอกว่าให้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการดังกล่าวเป็นระยะๆ

2 กันยายน 2553 โดย นสพ.ผู้จัดการ

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน