ยืดเวลา "กรรมการเสริมสร้างสมานฉันท์" สะสางปัญหาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย ได้ข้อสรุปเพิ่มองค์ประกอบกรรมการให้ครอบคลุมหมอ ทุกกลุ่มปรับกลไกหารือแยกกลุ่มก่อนนัดถกวงใหญ่ ปลัด สธ.รับลดการเผชิญหน้า เครือข่ายผู้ป่วยเตรียมออกเอกสาร 20 เรื่องแจงตัวแทน รพ.ศูนย์-ทั่วไป ยื่นเอกสารขอเวลารวมข้อมูล
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์นัดประชุมหารือเป็นครั้งที่ 2 ภายหลังยังเกิดความขัดแย้งในเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการที่จะเข้ามาพิจารณา รายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข โดยช่วงเช้ากลุ่มองค์กร ผู้บริโภค องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และเครือข่ายผู้ เสียหายทางการแพทย์ เข้าสักการะและปฏิญาณต่อหน้าพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระ มหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย ก่อนเข้าร่วมหารือ
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อ่านประกาศเจตนารมณ์การผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข มีเนื้อหาโดยสรุปว่า การมีกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณ สุขที่ครอบคลุมทุกคน โดยมีเป้าหมายเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ลด คดีความในการฟ้องร้องและลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้ สนับสนุนการ พัฒนาความปลอดภัยของผู้ป่วยและยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาล รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายจากบริการสาธารณสุขจึงมีความจำเป็น อย่างยิ่ง
"พวกเราขอปฏิญาณต่อหน้าพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย ว่า การทำหน้าที่ของพวกเรา กลุ่มองค์กรผู้บริโภค องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ที่ได้ร่วมมือกันใน การเข้าชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขจะเป็นไป เพื่อหลักการสำคัญ 3 ประการของกฎหมายที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา คือ 1.มีการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและมีความเสียหาย 2.มีระบบพัฒนาป้องกัน ความเสียหาย 3.ผู้ให้บริการทำงานอย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวลเรื่องการฟ้องร้อง ไม่มีการทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนอย่างเด็ดขาด" น.ส.สารีกล่าว
ในตอนท้ายของประกาศระบุว่า ในโอกาสที่พวกเราได้มาประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพที่ยังมีความเห็น แตกต่างกันอยู่บ้าง ขอให้การประชุมเป็นการถกแถลงด้วยเหตุด้วยผลและร่วมมือร่วมใจกันพัฒนากฎหมาย ฉบับนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สมดั่งคำสอนของพระราชบิดาที่ว่า "อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีจะไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย ถ้าใครอยากร่ำรวยก็ควรประกอบอาชีพ อื่น ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่ หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์"
ทั้งนี้ ท้ายคำประกาศเจตนารมณ์ของกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยได้มีบทกวีที่เขียนโดยนาย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ว่า "ร่วมพิทักษ์คุณธรรมความเป็นแพทย์ ร่วมระแวดระวังภัยได้รักษา ร่วมให้คนป่วยไข้ได้พึ่งพา ร่วมสนองพระเจตนาการุณยธรรม"
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความ สมานฉันท์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากสภาวิชาชีพต่างๆ ยกเว้นตัวแทนจากแพทย สภา สมาพันธ์แพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป (สมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท.) และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ไม่ได้ส่งตัวแทน เข้าร่วมประชุม รวมทั้ง นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (เลขาธิการ สช.) และ นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (ผอ.สวรส.) ที่ถูกคัดค้านจากกลุ่มแพทย์บางส่วนไม่ได้เดินทางมา ส่วนฝ่ายเครือข่ายผู้ ป่วยเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
พญ.พจนา กองเงิน ประธานสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท. พร้อมด้วย นพ.ศิริชัย ศิลป์อาชา ที่ปรึกษา ได้เข้ายื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข ภายในห้อง ประชุมคณะกรรมการสร้างเสริมความสมานฉันท์ พร้อมระบุว่า ไม่ได้มาเพื่อเข้าร่วมประชุม ต้องการมายื่นหนังสือ อย่างไรก็ตาม นพ.ไพจิตร์ได้ขอให้ พญ.พจนาและ นพ.ศิริชัยนั่งในห้องประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ เป็นเวลา 10 นาที และไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนร่วมฟังการหารือของคณะกรรมการแต่อย่างใด
นพ.ศิริชัย ศิลป์อาชา ที่ปรึกษาสมาพันธ์ รพศ./รพท. อ่านหนังสือที่ยื่นต่อปลัด สธ. โดยสรุปว่า ทางสมาพันธ์มาแจ้งต่อปลัด สธ. ว่าไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ได้ เนื่องจากระยะเวลาที่กระชั้นชิด ไม่สามารถรวบรวมความเห็นจากองค์กรแพทย์ รพศ.และ รพท.ทั่วประเทศได้ทัน อีกทั้งการประชุมแบบเผชิญหน้า 2 ฝ่าย ในขณะที่ข้อมูลไม่พร้อมคงไม่สามารถหาข้อสรุปที่ดีและส่งเสริมความสมานฉันท์ ได้ ทางสมาพันธ์จึงขอเสนอรูปแบบใหม่ของการประชุมเพื่อเป็นทางออกที่โปร่ง ใส เป็นธรรมและสมานฉันท์
นพ.ศิริชัยกล่าวว่า โดยขอให้จัดประชุมแยกเฉพาะสมาพันธ์และเครือข่ายกับคน กลางที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตัวแทนจากกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม กรรมการตามมาตรา 41 หลักประกันสุขภาพ องค์กรเอกชนที่ไม่ได้เสนอกฎหมาย เช่น ครูหยุย ตัวแทนสื่อมวลชน ตัวแทนแพทย์ทหาร, ตำรวจ, กทม., เอกชน ตัวแทนคณะแพทย์จุฬาฯ, ศิริราช, รามา ตัวแทนสภาวิชาชีพ 6 วิชาชีพ ตัวแทนแพทยสมาคม ตัวแทนวิปรัฐบาล กรรมาธิการสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุขหรือตัวแทนเข้าร่วมในฐานะเจ้าภาพและผู้ประสาน งาน แล้วจึงนำข้อสรุปมาประชุมกับคนกลาง แล้วให้ผู้ประสานงานกระทรวงนำข้อสรุปของแต่ละฝ่ายมานำเสนอ จนเหลือจุดที่มีความเห็นแตกต่างสุดท้ายจึงมาร่วมประชุมต่อรองแบบชนะทุก ฝ่าย และเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัด สธ.เข้าร่วมฟัง
พญ.พจนา กองเงิน ประธานสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท. กล่าวว่า เราเป็นแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยแท้จริง ทุกวันนี้มีความสมานฉันท์กับผู้ป่วย ดีอยู่แล้ว เราขอความเป็นธรรม ขอมีเวทีได้พูดบ้าง เพราะขณะนี้เรามีเวทีพูดแค่ 1% แต่เครือข่ายผู้ป่วยมี เวที 99% ซึ่งหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาได้จริง อยากขอให้แพทย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการ รพ. ประธานองค์กรแพทย์ และแพทย์ต่างจังหวัด โปรดหลุดจากงานดูแลผู้ป่วยออกมาดูตัวท่านเองว่าสิทธิมีหรือไม่
สำหรับการหารือรอบ 2 ใช้เวลาหารือนาน 2 ชั่วโมง และเวลา 12.00 น. นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าวันนี้เป็นเพียงการหารือครั้งที่ 2 เพราะสถานการณ์เปลี่ยน จากการมีแพทย์จาก กทม.มหาวิทยาลัยจะเข้าร่วม รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขต้องการให้ผู้ให้บริการสาธารณสุขและผู้รับบริการ สาธารณสุขมีความสุขทั้งคู่ ดังนั้นกรรมการในส่วนของกระทรวงจะเป็นเพียงผู้ ให้การสนับสนุนเท่านั้น จะไม่เป็น 1 ใน 3 ฝ่ายของคณะกรรมการ ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการที่ลงนามโดยรัฐมนตรีกระทรวง สาธารณสุขไปแล้วให้เพิ่มขึ้นครอบคลุมทั่วถึงทุกกลุ่ม การประชุมไม่ใช่การโหวตเสียง เพราะไม่มีหน้าที่และไม่ใช่สภาผู้แทนราษฎร แต่ควรได้ผลประชุมที่เป็นข้อเสนอที่เห็นร่วมกัน และปรับกลไกการประชุมแทนที่จะเผชิญหน้ากันในขณะที่ข้อมูลและการตื่นตัวของ กลุ่มผู้ให้บริการขยายวงไปมาก จึงเห็นว่าฝ่ายใดประชุมและมีข้อยุติได้ในแต่ละกลุ่ม ก็ประชุมไปก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช. และ นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผอ.สวรส. ที่ถูกแพทย์บางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการเข้ามาเป็นกรรมการนั้น นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า เราจะถอนตัวออกมา มีหน้าที่เพียงอำนวยการและให้ข้อมูล ซึ่งการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ขยายวงให้ครอบคลุมมากขึ้นนี้จะเร่งทำ ให้เร็วที่สุด
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เพราะมีแพทย์บางคนลาออกจากการเป็นคณะกรรมการ ปลัด สธ.จึงขอเวลาปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการ และในที่ประชุมได้คุยกันว่า แพทย์บางส่วนจะจัดเวทีรวบรวมความเห็นที่ยังแตก ต่างกันอยู่ ทางเครือข่ายเห็นว่าเวทีที่จะจัดขึ้นอย่าเป็นการเพิ่มความขัด แย้ง และกระทรวงสาธารณสุขที่จะทำหน้าที่อำนวยการจัดเวทีก็ควรจะทำหน้าที่เป็นกลาง ในการให้ข้อมูล โดยระหว่างนี้เครือข่ายจะทำข้อมูล 20 เรื่องที่แพทย์และประชาชนจะได้ประโยชน์ และเราจะพยายามไม่ตอบโต้ แต่ถ้าเห็นว่ามีบุคคล หน่วยงาน หรือสถาบันใด เตรียมการล้มกฎหมายฉบับนี้ก็จะรวมตัวกันคัดค้าน เพราะต้องทำหน้าที่ตามที่ได้รวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นเสนอกฎหมายตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2551 และยื่นเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2552 จนถึงวันนี้จะครบ 1 ปีแล้ว
"หมออย่ามองว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นเหมือนยาสเตียรอยด์ที่รักษาได้ทุกโรค กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ช่วยให้จำนวนหมอเพิ่มขึ้น หรือแก้ปัญหาอื่นของหมอ ได้ แต่เป็นกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหาย อยากให้คุยกันด้วยเหตุผล อย่าใช้อารมณ์ ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการกองทุนหากต้องการเพิ่มฝ่ายวิชาชีพก็สามารถพูด คุยกันได้ รวมทั้งองค์ประกอบของคณะกรรมการที่จะขยายวงนี้ด้วย เราไม่มีปัญหา เพราะไม่ คิดว่าจะต้องมาโหวตเสียงกัน และอยากผลักดันให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาภายใน 3 เดือนที่สภาเปิดนี้" เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว ส่วนถ้ามีความพยายามล้มกฎหมาย เครือข่ายจะออกมาชุมนุมคัดค้านหรือไม่นั้นคงจะปรึกษาหารือกันอีกครั้ง
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ไม่อยากให้แยกฝ่ายและอยากให้แพทย์มีความคิดเห็นในแนวทางเดียวกัน วันนี้เรายังเชื่อมั่นในนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่รับปากจะผลักดันกฎหมายฉบับนี้ล้านเปอร์เซ็นต์ ภาคประชาชนอดทนมานาน และยังอดทนได้ รวมทั้งเรามั่นใจว่าปลัด สธ.จะคุมเกมอยู่
ส่วนข้อเสนอที่ให้เครือข่ายผู้ป่วยหารือกับ สช.และ สวรส.ก่อนนั้น นางบุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก กล่าวว่า ทาง สช.และ สวรส.เป็นองค์กรทางวิชาการ ส่วนการขับเคลื่อนเรื่องนี้เรามีการพูดคุยในเครือข่ายกันอยู่แล้ว.
นสพ.ไทยโพสต์ 08/08/53