- เมื่อมีพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขจะทำให้เกิดการฟ้องร้องแพทย์มากขึ้นมาก
ไม่จริง ความจริงก็คือ พรบ.นี้ใช้หลักการเดียวกับมาตรา 41 ใน พรบ.หลักประกันสุขภาพซึ่งพิสูจน์มาเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วว่าสามารถลดการฟ้องร้องแพทย์และบุคคลากรการแพทย์ และช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียหาย เพียงแต่ว่ามาตรา 41 เยียวยาเฉพาะผู้เสียหายที่ใช้บัตรทองที่มีอยู่ประมาณ 47 ล้านคน ฉะนั้น พรบ.ฉบับนี้จึงจะขยายการคุ้มครองเยียวยาไปให้ครบ 65 ล้านคนที่เหลือที่ใช้สิทธิประกันสังคม, สวัสดิการข้าราชการ และคนที่จ่ายค่ารักษาพยาบาด้วยตัวเอง
- แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขจำนวนมากพึงพอใจกับขบวนการเยียวยาตามมาตรา 41 ที่ให้กับผู้ป่วยที่ใช้บัตรทอง
จริง หลังจากที่มาตรา 41 ใน พรบ.หลักประกันสุขภาพประกาศใช้มากว่า 6 ปี แพทย์ที่ทำการรักษาคนไข้บัตรทอง สามารถวางใจได้ว่า หากเกิดความผิดพลาดเสียหาย คนป่วยจะได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างทันท่วงที ในขณะที่ตัวแพทย์และบุคคลากรการแพทย์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในขบวนการหาคนผิดมาลงโทษ หรือเสี่ยงต่อการถูกสอบสวนดำเนินคดี แต่ที่ผ่านมา เป็นเฉพาะกรณีผู้ป่วยที่ใช้บัตรทองเท่านั้น หากเป็นผู้ป่วยที่อยู่นอกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังไม่มีกลไกเยียวยาใดๆอย่างเป็นระบบ
- พรบ.นี้จะทำให้มีผู้ฉวยโอกาสมาขอเงินชดเชยเยียวยามากมาย ขณะที่สถานบริการสาธารณสุขต้องหาเงินมาเข้ากองทุน
ไม่จริง ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ผู้เสียหายต้องเอาชีวิตของตนเอง ความพิการ และการเป็นโรคที่ไม่ต้องการมาแลกกับเงินชดเชย การฉวยโอกาสนั้นเป็นไปไม่ได้ แม้ประสบการณ์ในประเทศสวีเดน และฟินแลนด์ที่มีการนำ No Fault Liability law มาใช้ จะพบว่า มีผู้มาขอรับการเยียวยาชดใช้จริง แต่ก็เป็นกรณีที่มีความเสียหายจริงๆ การชดเชยเยียวยาจึงเป็นสิ่งที่เป็นธรรมต่อผู้เสียหาย โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องเอาที่ศาล ไม่สร้างความร้าวฉานในความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ส่วนประสบการณ์ของไทยเอง การใช้มาตรา 41 ของ พรบ.หลักประกันสุขภาพพบว่า มีผู้ได้รับเยียวยาชดเชยเพียง ประมาณ 2,719 คน และกองทุนนี้นอกจากจะไม่ล้มละลายแล้วยังมีเงินเหลือสะสมมากกว่าที่คาดไว้
- ผู้ป่วยที่เกิดความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ส่วนใหญ่ไม่ต้องการฟ้องแพทย์หากมีกระบวนการเยียวยาที่น่าพึงพอใจ
จริง กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า กระบวนการเยียวยาชดเชยต่อความเสียหายในการรับบริการทางการแพทย์สร้างความพีงพอใจให้แก่ผู้เสียหาย คือเหตุการณ์ที่ผู้เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกจำนวน 10 ราย ที่ต้องสูญเสียการมองเห็นจากการติดเชื้อในการรับบริการครั้งนั้น แต่เมื่อผู้เสียหายได้รับการเยียวยาทันท่วงที จึงไม่มีผู้เสียหายรายใดคิดที่จะฟ้องร้องแพทย์และโรงพยาบาล และท้ายที่สุดก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อแพทย์และโรงพยาบาลที่ทำการรักษา
- กองทุนนี้สร้างความเป็นธรรมในสังคมให้มากขึ้น
จริง เพราะอุบัติการณ์ความผิดพลาดทางการแพทย์ เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ว่าเกิดขึ้นได้ แม้แพทย์จะพยายามรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถก็ตาม และเมื่อเกิดความเสียหาย ไม่ใช้วิธีเพ่งโทษ เพราะไม่ใช่ความตั้งใจของผู้รักษาที่จะทำให้เกิดความเสียหาย ที่ผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายทุกคนก็ได้รับการเยียวยาด้วยการชดเชย เพราะกองทุนนี้จะดูแลประชาชนทั้ง 65 ล้านคน แต่หากไม่มีกองทุนจาก พรบ.นี้ จะมีคนกว่า 17 ล้านคนไม่ได้รับการดูแลเพราะไม่ได้อยู่ในระบบบัตรทอง
- ไม่มีความจำเป็นที่จะออก พรบ.นี้ เพราะกฎหมายเดิมที่มีอยู่ก็เพียงพอที่จะให้ความเป็นธรรมต่อผู้ได้รับความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์
ไม่จริง การเสนอ พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ นี้เกิดจากความล้มเหลวในระบบการให้ความเป็นธรรมในการให้บริการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีตามกฎหมายแพ่ง หรือการใช้ พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ผู้เสียหายต้องประสบกับอุปสรรคมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิสูจน์ความผิดพลาดในการบริการสาธารณสุข ทำให้คดีที่ผู้เสียหายฟ้องร้องในศาล แทบไม่เคยได้รับความเป็นธรรมเลย ถึงแม้ปัจจุบันจะมี พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2550 ช่วยให้การฟ้องคดีได้ง่ายขึ้น เช่น ไม่ต้องใช้ทนาย ไม่ต้องจ่ายค่าวางศาล ผู้เสียหายไม่ต้องพิสูจน์เอง แต่ก็มีผลต่อความสัมพันธ์แพทย์กับผู้ป่วย
ดังที่กล่าวไปแล้ว ทั้งจากประสบการณ์ของไทยและต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า หากผู้เสียหายได้รับการเยียวยา จะทำให้การฟ้องร้องลดน้อยลง หาก พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขโดนคว่ำ วงการแพทย์และสาธารณสุขจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาฟ้องร้อง ที่สร้างความทุกข์ต่อผู้ปฏิบัติงาน แล้วยังมีการเรียกร้องมูลค่าเงินชดเชยที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ขณะที่ผู้ป่วยก็ต้องทนทุกข์ทั้งกายและใจ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ คือ การมีกลไกเยียวยาที่สร้างความเป็นธรรมให้กับทั้งสองฝ่าย มารองรับอย่างเป็นระบบ ตามหลักการที่ปรากฏในร่าง พรบ.
- พรบ.นี้จะไปเบียดบังงบประมาณตามสถานพยาบาลทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานพยาบาลสำหรับประชาชน ทำให้ยาในโรงพยาบาลขาดแคลนหรือไม่มีคุณภาพ
ไม่จริง ความจริงคืองบประมาณกองทุนที่ได้มานั้น มาจากกองทุนในมาตรา 41 และเงินสมทบจากสถานพยาบาลเอกชนเป็นเบี้ยสมทบ เป็นหลักการเดียวกับการประกันความเสี่ยง ดีกว่าการจ่ายความเสียหายเป็นรายกรณี ส่วนโรงพยาบาลรัฐ กองทุนจะขอสมทบปีต่อปีจากรัฐบาล ดังนั้น โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะไม่ต้องเสียซ้ำเสียซ้อน
- มีตัวแทน NGO มากกว่าตัวแทนแพทย์ในคณะกรรมการพิจารณาเยียวยาช่วยเหลือ
ไม่จริง ในมาตรา 7 กำหนดว่ามีตัวแทนภาคประชาชนเพียง 3 คน กรรมการที่เหลือ ส่วนมากมีอาชีพเดิมและอาชีพปัจจุบันเป็นแพทย์ประมาณ 5 คน คือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ซึ่งเป็นแพทย์มาตลอด) อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสาธารณสุข (ซึ่งก็เป็นแพทย์) ตัวแทนสถานพยาบาล (ซึ่งน่าจะเป็นแพทย์ที่จะมาเป็นตัวแทน) จึงเห็นได้ว่าผู้มีความเชี่ยวชาญทางสาธารณสุขมีจำนวนมากกว่ากลุ่มประชาชนในทุกคณะกรรมการและอนุกรรมการ หากต้องการให้มีตัวแทนสภาวิชาชีพในคณะกรรมการก็สามารถเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงได้ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมธิการในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยไม่จำเป็นต้องล้ม พรบ.ทั้งฉบับ ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้
- คนไข้ได้เงินสองต่อ โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าเกิดจากความเสียหายทางการแพทย์หรือเนื่องมาจากโรคที่เป็นอยู่
ไม่จริง คนไข้ที่จะได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น ต้องเป็นคนไข้ที่ได้รับความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์เท่านั้น การช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดความขัดแย้งโดยเร็วที่อาจนำไปสู่การฟ้องร้อง ซึ่งการชดเชยเพิ่มเติมจะมีได้ต่อเมื่อมีการพิจารณาเห็นถึงความเสียหายและความจำเป็นที่เกิดขึ้นเท่านั้น
- ได้เงินแล้ว คนไข้ยังมีสิทธิฟ้องหมอได้อีก
จริงและไม่จริง
จริง ในประเด็นที่ว่าสิทธิการฟ้องร้องเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคนที่ไม่มีกฎหมายไหนรอนสิทธินี้ได้
ไม่จริงทางปฎิบัติ ในประเด็นที่ว่าผู้เสียหายน่าจะนำเรื่องไปสู่ศาลอีก ประการแรก มีโอกาสน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเพราะหลังจากรับเงินชดเชยจะต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 33 ประการที่สอง ในมาตรา 34 กำหนดไว้ว่า หากผู้เสียหายนำเรื่องไปฟ้องศาลก็ไม่สามารถกลับมารับการเยียวยาตาม พรบ.นี้อีก ซึ่งทำให้ผู้เสียหายต้องเลือกระหว่างกระบวนการเยียวยาที่รวดเร็ว ไม่มีค่าใช้จ่าย กับกระบวนการศาลที่อาจใช้เวลาหลายๆ ปี กับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
- หมอที่ทำงานหนักเพื่อรักษาประชาชน ไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก พรบ.นี้
ไม่จริง พรบ.นี้เป็นกฎหมายที่ไม่มีการหาคนผิด หรือ การกล่าวโทษ แต่เป็นพรบ.ที่ยอมรับว่า ความผิดพลาดทางการบริการทางการแพทย์เกิดขึ้นได้โดยไม่มีเจตนา แต่เมื่อมีความผิดพลาดก็ควรมีการเยียวยาต่อผู้เสียหายโดยให้รัฐกับสถานพยาบาลมาช่วยกันเฉลี่ยความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่อาจเกิดที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ แพทย์และบุคลากรที่ทำการรักษาไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหาย หรือต่อวิชาชีพ จึงสามารถดูแลคนไข้อื่นๆ ต่อไปอย่างเต็มความสามารถโดยไม่ต้องกังวลต่อกรณีฟ้องร้อง หรือกรณีหาเงินมาชดเชยต่อผู้เสียหาย
ที่สำคัญก็คือในมาตรา 45 มีการกำหนดให้อำนาจศาลพิจารณาละเว้นโทษให้แก่แพทย์หรือบุคคลากรการแพทย์หากมีการนำเรื่องไปฟ้องอาญา ซึ่งการละเว้นโทษขนาดนี้ ไม่ค่อยมีปรากฏในกฎหมายอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นการปกป้องและให้ประโยชน์แก่แพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเพื่อประชาชน
- ผู้ร่วมร่าง พรบ.นี้เป็นผู้ที่เคยฟ้องร้องหมอมาก่อน ฉะนั้น พรบ.นี้ทำเพื่อการฟ้องร้องหมอ
จริงและไม่จริง
จริง ที่ผู้ร่วมร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ที่เป็นร่างของประชาชน ร่างโดยผู้ที่เคยฟ้องร้องหมอ แต่ร่าง พรบ.ของประชาชน ไม่ใช่ร่างหลักที่กำลังจะเข้าสู่สภา เพราะร่างกฎหมายที่กำลังจะเข้าเป็นร่างของ ครม. ที่ผ่านกฤษฏีกา ที่กลุ่มประชาชนได้ร่วมออกความเห็น พร้อมๆ กับตัวแทนแพทยสภา และตัวแทนองค์กรอื่นๆ
ไม่จริง ตรงที่ว่าที่บุคคลที่เคยฟ้องแพทย์มาร่าง พรบ.นี้เพื่อเพิ่มการฟ้องร้องแพทย์ ตรงกันข้าม การร่าง พรบ.นี้ ทำไปเพื่อลดการฟ้องร้องแพทย์และหาทางออกที่เป็นธรรมให้แก่ผู้เสียหาย โดยผ่านการศึกษาและวิจัย ทั้งประสบการณ์ในต่างประเทศและของไทย
ในอดีตขบวนการขึ้นสู่ศาลต่างๆ สร้างความทุกข์และมีค่าใช้จ่ายให้แก่แพทย์และผู้เสียหายอย่างมากมาย โดยแทบไม่มีใครได้ประโยชน์กับการฟ้องร้อง จึงเห็นว่า พรบ.นี้น่าจะเป็นกลไกแก้ไขปัญหานี้ได้ดีที่สุด
- กองทุนนี้ท้ายที่สุดจะทำให้ประเทศล่มจมเพราะจะมีคนเรียกร้องค่าชดเชยจนไม่มีงบเพียงพอที่จะดูแลกองทุน
ไม่จริง การกำหนดให้มีการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการกองทุนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสีย ต้องกำหนดการจ่ายเงินให้เหมาะสมกับกองทุนที่มี เช่น การกำหนดเพดานการจ่ายชดเชยเยียวยาที่จะช่วยทำให้ควบคุมการใช้จ่ายของกองทุนได้ โดยมีกรณีประสบการณ์จาก ม.๔๑ ของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่บริหารได้มีประสิทธิภาพ
- สถานพยาบาลที่ดีมีคุณภาพไม่ควรต้องนำเงินไปช่วยสถานพยาบาลที่ด้อยคุณภาพที่มีความเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหาย
จริงและไม่จริง
จริง แต่หลักการการเฉลี่ยความเสี่ยงทำให้ทุกสถานพยาบาลมีความมั่นใจว่า หากมีความเสียหายที่เป็นเหตุสุดวิสัย ก็ยังมีกองทุนที่มาเยียวยาช่วยเหลือทันที โดยไม่ต้องควักเงินตนเองออกมาโดยไม่จำเป็น
ไม่จริง การจ่ายเงินสมทบของสถานพยาบาลคำนึงถึงความถี่หรือความรุนแรงของการเกิดความเสียหาย ดังนั้นหากเกิดความเสียหายน้อยก็จะถูกสมทบน้อยลง
- แพทย์ พยาบาล และบุคลากรผู้ให้บริการสาธารณสุขอื่นๆ ก็ได้ประโยชน์โดยตรงจาก พรบ.นี้
จริง เนื่องจาก พรบ.นี้ชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้ใดก็ตามที่อยู่ในกระบวนการการให้บริการสาธารณสุข ซึ่งรวมทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากร ด้วย เช่น หากมีป่วยจากการติดเชื้อโรคเพราะให้การรักษาพยาบาลกับผู้ป่วย หรืออุบัติเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ก็สามารถเรียกร้องการเยียวยาจากกองทุนได้
- แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะค่อยๆ ทยอยลาออกจากงานเพราะแรงกดดันของ พรบ.
ไม่จริง ผลของ พรบ.จะทำให้แพทย์และพยาบาลทำงานอย่างสบายใจขึ้น เพราะหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ผู้ป่วยได้รับการเยียวยาทันที ไม่มาร้องเรียนกดดันแพทย์อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เมื่อไม่จำเป็นต้องหาคนผิดหรือหาคนจ่ายค่าชดเชย จะทำให้แพทย์และคนไข้มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ไม่ต้องมาเผชิญหน้า หรือหนีหน้ากัน อย่างที่เคยเกิดขึ้น จะทำให้แพทย์และบุคลากรมีเกราะป้องกัน ในขณะที่ผู้ป่วยมีกองทุนรองรับบรรเทาความเดือดร้อน
- แพทย์สภาจะหมดความหมาย
จริงและไม่จริง
จริง ในประเด็นการรับเรื่องร้องเรียน เพราะประชาชนจะร้องเรียนกับแพทยสภาน้อยลง แต่ไม่ได้หมดความหมาย
ไม่จริง แพทยสภาจะไม่หมดความหมาย เพราะแพทยสภาคือสภาวิชาชีพ ที่มีหน้าที่หลักในการทำให้วิชาชีพมีจริยธรรม และควบคุมกำกับจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพ เหล่านี้ยังเป็นหน้าที่หลักของแพทยสภา และแพทยสภายังมีภารกิจอีกมาก เช่น ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาแพทย์เป็นต้น