พญ. มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่ กำลังเป็นข่าวในขณะนี้ว่า เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจบรรดาแพทย์ทั้งหลายเพราะต้องรับผิดชอบคนไข้จำนวนมาก โดยเฉพาะแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชนตามต่างจังหวัดที่ ทำงานกันอย่างหนักเมื่อมาเห็นร่างพ.ร.บ.นี้ทำให้รู้สึกกังวลจนมีหลายคนอยาก เลิกอาชีพหมอไปเลยก็มี ซึ่งการแก้ปัญหาทุกฝ่ายต้องมีการพูดคุยกันมากกว่านี้ ถึงแม้ในร่างพ.ร.บ.จะระบุว่ารัฐบาลจะเป็นผู้แบกรับค่าชดเชยส่วนนี้ก็ตาม
ดังนั้นก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้น่าจะมีการทบทวนในรายละเอียด เพื่อความสบายใจทั้งสองฝ่ายเพราะคนที่ออก พ.ร.บ.ไม่เห็นความสำคัญของการรักษาคนไข้ ขณะนี้หมอโดยเฉพาะตามโรงพยาบาลชุมชนหมอไม่กล้าแม้จะทำการรักษา ทุกวันนี้มียอดคนไข้ส่งต่อเข้าในรักษาในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลจังหวัด เป็นจำนวนมากโดยไม่ยอมรักษาในโรงพยาบาลพื้นฐานเพราะเขากลัวการรักษาที่อาจจะ ผิดพลาด
พญ.มาลินีกล่าวอีกว่า กทม.ได้มีการเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องทั้งสำนักการแพทย์และสำนักอนามัยเพื่อ ระดมความคิดในเรื่องดังกล่าวเพื่อสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจในหลักการของร่าง กฎหมาย ซึ่งหากดูตามหลักการนั้นเห็นด้วยถ้าการดำเนินการจะเป็นไปตามเจตนารมของ กฎหมาย แต่อยากให้มีรายละเอียดมากกว่านี้ และยังกังวลในประเด็นเรื่องความเป็นกลางของกรรมการพิจารณาในการจ่ายค่าชดเชย ให้ผู้เสียหายเนื่องจากกรรมการส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากวิชาชีพทางด้านการแพทย์ อาจไม่เข้าใจการรักษาและไม่มั่นใจว่าจะสามารถลดการฟ้องร้องลงได้จริงหรือไม่ รวมถึงกองทุนที่ตั้งขึ้นอาจจะกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขทั้งระบบ ซึ่งจะย้อนไปสู่ประชาชนในการแบกรับค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นและความล่าช้าใน การรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตามอยากให้มีการทบทวนประเด็นที่หมอส่วนใหญ่มีความกังวลและแก้ไขบาง มาตราก่อนจะมีการบังคับใช้ต่อไป
“เข้าใจว่าประชาชน ผู้เสียหายทุกคนอยากได้เงินชดเชย ซึ่งแพทย์ผู้ที่ต้องจ่ายเงินนั้นก็ต้องการทราบสาเหตุว่าทำไมต้องจ่าย จ่ายเพราะอะไร และความคุ้มครองที่รัฐบาลจะช่วยเหลือนั้นจริงหรือไม่ ครอบคลุมถึงไหนบ้าง และหมอในโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับความคุ้มครองด้วยหรือไม่ ต้องศึกษารายละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมาคนไข้ส่วนมากบอบช้ำระหว่างการส่งต่อ แล้วเมื่อมาถึงมือหมอก็ไม่ไหวแล้ว ไม่อยากให้รุมด่าว่าเขาใจดำ นอกจากนี้เรายังมี กฎหมายในมาตรา 41 ในเรื่องของการจ่ายเงินชดเชยเบื้องต้นกับผู้ป่วย หรือญาติของผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว ซึ่งน่าจะนำมาบังคับใช้ให้เต็มที่ก่อนไม่ใช่มากล่าวหากันแบบนี้” พญ.มาลินี กล่าว
อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลในสังกัดกทม.ถึงแม้ว่าจะยังขาดแคลนแพทย์อยู่บ้างแต่ก็ ยังถือว่าโชคดีเพราะยังมีแพทย์ที่เกษียณอายุแล้วมาช่วยงานเป็นครั้งคราว แต่ที่น่าเห็นใจก็คือโรงพยาบาลชุมชนซึ่งหมอต้องรับผิดชอบชีวิตคนไข้เป็น จำนวนมากเมื่อ ร่างพ.ร.บ.นี้ออกมาจึงกังวลเกรงสักวันอาจจะถูกฟ้องร้อง จนไม่อยากจะรักษาคนไข้ต่อไปแล้ว หากเป็นอย่างนี้ต่อไปหมอก็คงเลิกอาชีพนี้และคนที่เดือดร้อนจริงๆ ก็คือประชาชนทั่วไป
วันที่ 4/8/2010