บริการสุขภาพ

ถก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ก่อนคุยเวทีใหญ่ที่ สธ.จันทร์นี้

แพทยสภาเตรียมเสนอแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ มาตรา 7 ในเวทีเจราจา 2 ส.ค.นี้ ด้านเอ็นจีโอ หวังแค่เวทีเจรจาจันทร์นี้ได้ข้อสรุปเอาหรือไม่เอา พ.ร.บ.ส่วนรายละเอียดรอถกภายหลัง ฝ่ายนักกฎหมายยัน พ.ร.บ.นี้ดี แต่ควรปรับรายละเอียด ขณะเครือข่ายแพทย์ชี้พร้อมเดินหน้าค้าน พ.ร.บ.เช่นเดิม

วันนี้ (1 ส.ค.) นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายก แพทยสภา กล่าวในเวทีเสวนา โครงการร่วมปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 11/2553 “หาจุดร่วมสงวนจุดต่าง : ทางออก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ......” ที่จัดโดยความร่วมมือของสมาคมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันอิศรา และมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ว่า จากการที่ได้ศึกษาข้อมูลทางวิชาการในกลุ่มประเทศตัวอย่างที่ใช้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยเฉพาะ สวีเดนนั้น พบว่า มีผลกระทบต่อการฟ้องร้องที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 1975 มีผู้ร้องเรียน 600 กว่าราย พอถึงปี 2004 นั้นเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ราย แต่ที่สวีเดนยังใช้ พ.ร.บ.นี้ได้ เนื่องจากใช้ระบบแบบรัฐสวัสดิการ ซึ่งมีการเรียกเก็บภาษีจากประชาชนสูงถึง 60-70% และเมื่อมีผู้ได้รับความเสียหายฯ หมอจะเป็นผู้จ่ายให้เองเพราะประชาชนได้เสียภาษีให้แล้ว ดังนั้น จึงเชื่อว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีส่วนช่วยเรื่องการลดการร้องเรียน

“เมื่อ มีกฎหมายมาจ่อเอาโทษแพทย์ขนาดนี้ แพทย์ส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงการรักษาที่มีความเสี่ยงสูง แล้วส่งต่อคนไข้ให้รักษากับแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และหากรักษาไม่ไหวก็จำใจลาออก เพราะรู้ว่าไม่คุ้มที่จะเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้งบประมาณในการรักษาก็จะเพิ่มขึ้นด้วย” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ตนเห็นด้วยกับการที่ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเรียกทุกฝ่ายทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุนกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เข้าเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่อยากให้แก้ไข คือ หลักการตามมาตรา 7 ซึ่งเกี่ยวกับการในการจัดตั้งคณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบ บริการสาธารณสุข โดยเฉพาะในส่วนของคณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยควรมีแพทย์วิชาชีพในสัดส่วน เท่ากัน และอยากให้กำหนดถึงที่มาของกองทุนฯ รวมถึงระบุเพดานเงินที่จะต้องจ่ายให้ชัดเจนด้วย

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้ จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการเสวนาครั้งนี้ คือ การมุ่งหาทางออก ดังนั้นจึงอยากให้แพทยสภามีความชัดเจนว่า ตลอดเวลาที่คัดค้านนั้นต้องการให้แก้ไขส่วนใดบ้าง แต่ขออย่าแสดงออกในเชิงของเจตนาที่ทำให้สังคมเข้าใจว่า แพทยสภาต้องการล้มกฎหมาย เพราะในส่วนของเครือข่ายภาคประชาชนเองไม่ได้เห็นด้วยกับหลักการของ พ.ร.บ.ทั้งหมดเช่นกัน โดยเฉพาะโครงสร้างคณะกรรมการนั้น ไม่อยากจะให้มีการระบุถึงกระบวนการไกล่เกลี่ยและประนีประนอม ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำหนังสือให้รัฐมนตรี สธ.เอาออก แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการตามคำขอแต่อย่างใด ซึ่งเครือข่ายเองก็มิได้คัดค้าน

“ส่วน การเข้าหารือที่กระทรวงสาธารณสุขในวันพรุ่งนี้นั้น อยากให้คุยกันถึงหลักการก่อนว่าจะเอาหรือไม่เอากฎหมายฉบับนี้ แล้วค่อยมาคุยในรายละเอียดว่าจะต้องแก้ไขในมาตราใดบ้าง ดีกว่าเสียเวลาในการตอบโต้กันไปมา” น.ส.สารี กล่าว

ขณะที่ นายดล บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสักนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า หากกฏหมายฉบับนี้เกิดขึ้นนั้น ไม่มีผลต่ออัตราการฟ้องร้องว่าจะมากหรือน้อย ที่สำคัญ กฎหมายฉบับนี้จะประกาศใช้หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับทั้ง 2 ฝ่ายที่มาถกกันในครั้งนี้ แต่ขึ่นอยู่กับ กระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ทั้งนี้สำหรับข้อเสนอแนะนั้นตนอยากให้มีการระบุชัดเจนว่าเพดานในการจ่ายค่า ชดเชยอยู่ที่เท่าไหร่ และควรระบุที่มาของกองทุนที่ชัดเจนด้วย โดยต้องมีการเรียกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาคุย ตลอดจนเสนอว่าควรมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเงินกองทุนฯเพิ่มเติมด้วย ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มี

นายดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ใน ส่วนของรายละเอียดที่มีการประนีประนอมนั้น เป็นข้อดีต่อแพทย์ เนื่องจากเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือกฏหมายศาล ซึ่งศาลเองสามารถศาลสามารถนำมาพิจารณาลดโทษ หรือไม่ลงโทษก็ได้ โดยรายละเอียดส่วนนี้น่าจะมีการเพิ่มขึ้นมาอีกมาตรา เพื่อระบุให้ชัดเจนว่า หากผู้เสียหายได้ดำเนินคดีทางแพ่ง แล้วเกิดมีการยอมความกันในขั้นตอนดังกล่าวตามเงื่อนไขการประนีประนอมหรือ ไกล่เกลี่ยแล้วนั้น ผู้เสียหายมีสิทธิ์ที่จะไม่ฟ้องทางอาญาได้

ด้าน พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธาน สมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการหารือที่ สธ.พรุ่งนี้ ตนและตัวแทนเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เครือข่ายแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข พร้อมจะเข้ารับฟังทางเครือข่ายภาคประชาชนที่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ก็ยืนยันเช่นเดิมว่ายังคงคัดค้าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ และจะเคลี่อนไหวเพื่อให้เกิดการยกเลิก พ.ร.บ.นี้เช่นเคย

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 1 สิงหาคม 2553

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน