มาร์ค” ออกโรงหย่าศึกแพทย์-พยาบาลฮือต้าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ป่วยฯ หลังบุคคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศแต่งดำประท้วงวุ่น สั่งเปิดเวทีประชาพิจารณ์ฟังความเห็น 2 ฝ่าย ขณะที่ ปลัด สธ.ยันต้องปรับอารมณ์หมอ-ผู้ป่วยร่วมทางเดินเดียวกันให้ได้ ด้าน “กลุ่มหมอ” ขู่หากรัฐบาลไม่แก้ พ.ร.บ.ฉาวเจอล่าชื่อหมอร่วมค้านอีก 1 หมื่นคน
จากกรณีที่แพทย์และพยาบาลทั่วประเทศแต่งชุดดำเพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข โดยเห็นว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหมอ พยาบาล กับผู้ให้บริการกับคนป่วยที่มารับบริการเสื่อมลง และยังทำให้คนป่วยต้องเสียค่ารักษาตัวมากขึ้น ในขณะที่มูลนิธิเอดส์บุกแพทยสภาให้การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายได้ค่าชดเชยมากขึ้น ไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้แพทย์ถูกฟ้องมากขึ้นอย่างที่เป็นห่วงกัน ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานว่า บรรดาแพทย์-พยาบาลแต่งชุดดำประมาณ 300 คน ยกขบวนบุกกระทรวงสาธารณสุขทำการค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข และร่วมกันเผาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ พร้อมรวบรวมรายชื่อแพทย์คัดค้าน 10,000 คน เสนอปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำหากไม่แก้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เตรียมนัดแต่งชุดดำทุกวันศุกร์จนกว่าจะแก้ไข
ในเวลาต่อมา หลังจากที่บรรดาแพทย์และพยาบาลได้ร่วมกันทำการเผาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ แล้ว ทางสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์ และ รพ.ทั่วไปแห่งประเทศไทย และเครือข่ายวิชาชีพด้านสาธารณสุข ได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับผลดีผลเสียของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยส่วนใหญ่เห็นว่าหลายมาตราที่เป็นปัญหาจะกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขและ ผู้ให้บริการ ทั้งนี้ น.พ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมารับฟังปัญหาด้วยตนเอง
ทั้งนี้ น.พ.ไพจิตร์ กล่าวว่า พ.ร.บ.นี้เจตนารมณ์ดีที่จะให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างผู้ป่วยและผู้ ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข แต่อาจมีรายละเอียดที่เห็นไม่ตรงกัน ดังนั้นตนจะเป็นตัวกลางประสานทุกฝ่ายให้พูดคุยกัน โดยจะนัดฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาพูดคุยในสัปดาห์หน้าที่กระทรวง สาธารณสุข แต่คิดว่าการพูดคุยกันแค่ครั้งเดียวคงไม่ได้ข้อยุติ คงต้องนัดทั้ง 2 ฝ่ายมาพูดคุยกันหลายครั้ง แต่จะพยายามประชุมให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด โดย น.พ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ รพ.พระนั่งเกล้า กล่าวว่า ทาง น.พ.ไพจิตร์ นัดหารือ 2 ฝ่ายในวันจันทร์ที่ 2 ส.ค.นี้ ในเวลา 16.00 น.
ด้าน น.อ.พิเศษ น.พ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ร่างนี้มีหลายมาตราที่เป็นปัญหา เช่น มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 12 มาตรา 13 มาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 27 มาตรา 30 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 37 มาตรา 38-41 มาตรา 42 มาตรา 46 มาตรา 47 และมาตรา 50 ดังนั้นควรจะมีการถอนร่าง พ.ร.บ.นี้ออกมาก่อน และมาพูดคุยกันให้ได้ข้อยุติก่อน
อย่างไรก็ตาม วันเดียวกันนี้ น.พ.ไพจิตร์ เปิดเผยหลังจากที่นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ นำเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคไต โรคหัวใจ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ประมาณ 30 คน เข้าพบหารือเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการ สาธารณสุข พ.ศ. .... ที่มีความเห็นขัดแย้งกันในขณะนี้ ว่า จากการพูดคุยกับกลุ่มตัวแทนเครือข่ายครั้งนี้มีความคิดเห็นตรงกันว่าทำอย่าง ไรให้ประชาชนผู้เสียหายได้รับการดูแล ขณะเดียวกันแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานมีความสบายใจว่าไม่มี การฟ้องร้องหรือถูกฟ้องร้องเพิ่มขึ้น
สำหรับหลักการแล้ว ได้เน้น 2 เรื่องนี้เดินควบคู่กันไป ส่วนวิธีการที่จะทำให้เกิดขึ้นได้นั้น นอกจากคุยกับกลุ่มนี้แล้วจะหาโอกาสคุยกับทุกๆ กลุ่มที่เกี่ยวข้อง โดยจะไม่มีการพูดถึงว่าใครจะดึงไม่ดึงร่าง พ.ร.บ. เพราะเท่าที่ดูและฟังด้านกลุ่มแพทย์พยาบาลก็ไม่ได้คัดค้านว่าจะไม่ให้ดูแล ผู้ได้รับความเสียหาย เพียงแต่อยากให้การทำงานเป็นไปอย่างสบายใจ ไม่มีความกังวลเรื่องการฟ้องร้อง ซึ่งจริงๆ แล้วอีกฝ่ายก็มีความคิดเห็นตรงกันกับเรื่องนี้ ทั้งนี้ น.พ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า สุดท้ายจะต้องให้ทุกฝ่ายได้มาพูดคุยกัน อาจจะต้องปรับความคิดเห็นเข้าหากัน ถ้าในหลักการเดินหน้าไปด้วยกันได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี แต่มั่นใจว่าหากทั้ง 2 ด้านเดินไปด้วยกันจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการคุ้มครอง ด้านแพทย์พยาบาลก็จะมีความสบายใจ บรรยากาศการทำงานก็จะดีขึ้น
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าว ว่า พร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย และเชื่อว่าจะสามารถทำความเข้าใจได้ เนื่องจากเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ทุกฝ่าย ดังนั้นช่วงเวลาที่เหลือต้องทำความเข้าใจระหว่างแพทย์ พยาบาล และผู้รับบริการทางการแพทย์
ส่วน น.พ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีความสำคัญ พรรคในฐานะแกนนำรัฐบาลจะรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ในการเปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติที่กำลังจะมีขึ้นนั้นได้มอบหมายให้คณะ กรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้ผู้ใช้บริการ องค์กรเอกชน และบุคลากรทางการแพทย์ ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่และให้เกิดข้อตกลงที่ได้ประโยชน์และเป็นที่ ยอมรับของทุกกลุ่ม ก่อนร่าง พ.ร.บ.เข้าสภา โดยต้องสร้างความมั่นใจว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องลดการฟ้องร้องกรณีความเสียหายทางการแพทย์ คุ้มครองทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการตามสิทธิอย่างสมบูรณ์
โดย บ้านเมืองออนไลน์ 31/7/53