จากการที่สมาคมผู้บริโภค เครือข่ายผู้เสียหายจากทางการแพทย์ และเครือข่ายต่างๆ ได้มีการแถลงการณ์เกี่ยวกับการยืนยันที่ว่า "ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ..."
ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ เป็นเครื่องมือที่สำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และคนไข้ และจะช่วยไม่ให้เกิดการฟ้องอาญาต่อแพทย์ โดยหลักการนี้มีหัวใจที่สำคัญคือ การช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจาการรับบริการสาธารณสุขโดยที่จะไม่มีการ พิสูจน์ความผิดและผู้ที่กระทำความผิด และเป็นระบบที่มุ่ง"ชดเชยความเสียหาย" มิใช่การมุ่งหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษแต่อย่างใด แต่ถึงกระนั้นทางแพทย์เองก็เกิดความกังวลและตระหนกต่อประเด็นนี้เป็นอย่างยิ่ง
ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ได้สัมภาษณ์ นายแพทย์พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เกี่ยวกับประเด็นที่กำลังเป็นข้อโต้เถียงในปัจจุบัน
จริงๆแล้ว กฏหมายมีความน่ากลัวอย่างที่คนเขาตกใจกันหรือไม่?
ต้องถามว่าจริงๆแล้วความน่ากลัวอยู่ตรงประเด็นไหน เนื่องจากจริงๆแล้วเจตนารมณ์ในการเขียนจดหมายฉบับนี้มีความชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากฏหมายไม่ได้ตั้งใจให้เกิดผลกระทบกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และก็มีการคาดหวังกันส่วนหนึ่งว่าการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับความสูญ เสียนั้น ส่วนหนึ่งจะส่งผลกระทบทางอ้อมให้การฟ้องร้องของแพทย์ลดลง ฉะนั้นถ้ามองจากเจตนารมณ์จริงๆก็ไม่น่ากลัว แต่ปัญหาก็คือ ความกลัวและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในหมู่ของผู้ประกอบวิชาชีพเกิดจากการตี ความว่าผลกระทบของกฏหมายนั้นอาจจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์
นั่นหมายความว่าแพทย์ก็มีความเสี่ยงที่จะการโดนลงโทษทางอาญา และอาจโดนเพิกถอนใบอนุญาต?
จริงๆแล้วกฏหมายไม่ได้เขียนอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องการฟ้องทางคดีอาญาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข เพราะฉะนั้นการฟ้องคดีอาญา เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอยู่แล้ว ที่จะฟ้องร้องในกรณีที่เกิดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษา และสามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การฟ้องเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีกฏหมายนี้ และสิทธินั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่มีกฏหมายฉบับนี้ แต่ประเด็นที่มีการวิตกกังวลกันก็คืออยากจะให้มีการเขียนในกฏหมายฉบับนี้ว่า ไม่ให้มีการฟ้องคดีอาญา แต่กฏหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุไว้ ซึ่งก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้สภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบันแย่ลง
กฏหมายนี้มีหลักการที่สำคัญ ที่นอกเหนือจากการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ ทางการแพทย์ โดยไม่มีการเน้น "การพิสูจน์ถูกผิด" โดยแยกออกจากการเยียวยาอย่างชัดเจน กฏหมายแพ่งผูกสองประเด็นนี้เข้าไว้ด้วยกัน เพราะทุกครั้ง การที่มีการเยียวยาได้ ต้องมีการพิสูจน์ได้ว่า มีผู้กระทำผิดจริง กฎหมายแพ่งจึงสามารถใช้บังคับผู้กระทำความผิดมาเยียวยาผู้เสียหายได้
โดยกฏหมายนี้ใช้หลักการที่ว่า "No False" เน้นในประเด็นไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด เน้นการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายเป็นประเด็นสำคัญ ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากประเด็นทางกฏหมายแพ่งก็น่าจะผ่อนจากหนักให้เป็นเบาได้
แต่ บางคนกลับมองว่า การไม่พิสูจน์ถูกผิดกลับกลายเป็นผลเสีย เนื่องจากเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้มีการกระทำผิดหรือไม่ แต่เรากลับมองว่าจริงๆแล้วกระบวนการในการทำให้ผู้ที่มีปัญหาในการรักษา มาตรฐานในการประกอบอาชีพ มีกฏหมายประเภทอื่นๆที่รองรับอยู่แล้ว โดยที่กฏหมายนี้ไม่จำเป็นต้องไปเกี่ยวข้อง และปล่อยให้กลไกทางกฏหมายอื่นดำเนินสภาพไปตามปกติ
แต่ก็มีความกังวลว่ากฏหมายฉบับนี้จะเป็นประตูที่เปิดไปสู่กระบวนการใช้กลไกของแพทยสภาได้ง่ายขึ้น
การฟ้องร้องหรือร้องขอให้แพทยสภามีการสอบสวนความประพฤติของแพทย์ มีการดำเนินการอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงไม่ได้ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด จากเดิมที่อาจจะเคยร้องเรียนหน่วยงานต้นสังกัด หรือร้องเรียนต่อศาล ซึ่งแพทยสภาสามารถหยิบมาเป็นกรณีในการสอบสวนการกระทำผิดของแพทย์สภาพการณ์ ของเรื่องนี้ก็ไม่ได้ต่างไปจากเดิม เพียงแต่ว่าต่อไป ผู้เสียหายอาจจะไม่ไปฟ้องร้องต่อหนังสือพิมพ์หรือศาล แต่มาร้องเรียนที่สำนักงานกองทุนที่ตั้งขึ้นมาใหม่โดยตรงเพื่อโน้มน้าวให้คน เข้ามาใช้กลไกนี้แทนการฟ้องร้องผ่านศาล
โดยโครงสร้างที่ว่านี้ จะทำให้มีคณะกรรมการเกิดขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง หลายคนได้วิจารณ์ว่าคนที่อยู่ในคณะกรรมการกลุ่มดังกล่าว มีความครอบคลุมตัวแทนทุกฝ่ายเพียงพอหรือไม่
ภายใต้โครงสร้างของกฏหมายฉบับนี้ จะมีกรรมการในระบบนโยบายชุดหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ในการกำหนดกรอบนโยบายในการบริหาร รายละเอียดบางเรื่องที่ไม่ได้เขียนชัดเจนไว้ในกฏหมายก็จะต้องให้กรรมการเป็น ผู้กำหนด ซึ่งรวมถึงอัตราการชดเชยความเสียหายต่างๆ การดูแลในระบบปฏิบัติการนั้นเป็นหน้าที่ของสำนักงานซึ่งจะดำเนินการตามนโบาย ที่คณะกรรมการกำหนด ส่วนการดำเนินการพิจารณาในรายกรณี ก็จะเป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ โดย
-พิจารณาว่าเข้าข่ายที่จะใช้กฏหมายนี้หรือไม่
-ความเสียหายนั้นมีมูลค่าของการชดเชยตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดเป็นอย่างไร
เมื่อดูจากคณะกรรมการชุดใหญ่ ก็จะประกอบด้วยคนที่เกี่ยวข้องที่สามารถให้มุมมองในเชิงนโยบายได้ ซึ่งประกอบด้วย สถานพยาบาล หน่วยราชการ ผู้เสียหาย ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งพิจารณาแล้วก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไรในเชิงองค์ประกอบ แต่ข้อถกเถียงส่วนใหญ่ก็คือ การอยากให้มีผู้แทนของผู้ประกอบวิชาชีพและสถานพยาบาลมากขึ้น เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความรู้ในด้านนี้ดีที่สุด
เนื่องจากกฏหมายฉบับนี้ไม่เน้นพิสูจน์ถูกผิด จึงอาจไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญทางการแพทย์เฉพาะด้านมากเท่า ที่ควร แค่สามารถระบุได้ว่าความผิดพลาดนั้นเกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล และไม่เข้าข่ายการยกเว้นในการที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวก็จะยังคงมีบุคลากรทางการแพทย์อยู่ เพียงแต่ไม่ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่เท่านั้นเอง โดยมีหน้าที่ในการพิจารณาจำนวนเงินเพื่อชดเชยความเสียหาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับทางการแพทย์น้อยมาก แต่มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญทางด้านสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องมากกว่า
ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าจะมีการใช้เสียงข้างมากหรือไม่ น่าจะเป็นการตีความที่เกินกว่าสิ่งที่กฏหมายต้องการอยากจะให้เป็น โดยผู้ที่คัดค้านมีความเห็นว่ากรรมการอาจจะใช้เสียงข้างมากในการพิจารณาหรือ ไม่ ซึ่งเป็นการตีความหลักการเขียนกฏหมายมาตรฐานทั่วไปในเรื่องของกรรมการไปเป็น รูปธรรม ว่านี่คือสิ่งที่จะใช้เสียงข้างมากเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ ซึ่งดูเป็นความวิตกที่เข้าใจได้ และน่าเห็นใจอย่างยิ่ง
ในกรณีที่มีความเสียหายเล็กๆน้อยๆ ซึ่งมิได้เกิดจากผลการรักษา หรือเกิดจากความเจ็บป่วยของผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้ นั้นคงไม่สามารถทำได้ในทุกกรณี แต่ในกรณีขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ นั้นยังคงมีความจำเป็นอยู่
เข้าใจว่าร่างกฏหมายนี้ประกอบด้วยร่างของผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้เสียหายและร่างที่เป็นส่วนกลางของรัฐบาล ใช่หรือไม่
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เท่าที่ทราบมีทั้งหมด 7 ร่าง ซึ่งได้แก่
-ร่างพระราชบัญญัติของกระทรวงสาธารณสุข
-ร่างพระราชบัญญัติของคุณสารี อ๋องสมหวัง กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,631 คน
ส่วนที่เหลืออีก 5 ร่างพ.ร.บ. นั้นเป็นร่างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยมีชื่อของส.ส. ที่ยื่นเสนอ ในนามของตนเองคนละร่าง
สิ่งที่จะต้องจับตาดูก็คือการแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งอาจจะทำให้เจตนารมย์ที่กล่าวมาเบื้องต้นมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
ถ้าเราสามารถใช้ข้อมูล หลักการและเหตุผลโดยตัดความรู้สึกอคติของทั้งสองฝ่ายบางส่วนออก ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก ซึ่งในบางครั้งในเวลาที่สังคมต้องการการปฏิรูปไปสู่ความสมานฉันท์ ความเป็นเอกภาพ ภราดรภาพ ทั้งสองฝ่ายต่างจำเป็นต้องทำความเข้าใจกันมากขึ้น เนื่องจากหลายครั้งเป็นลักษณะของการตั้งแง่กันว่า ทำไมอีกฝ่ายจึงไม่เข้าใจฝ่ายตนเอง
กลุ่มเครือข่ายแพทย์ ผู้ประกอบวิชาชีพ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับผู้รักษาพยาบาลห่างออกไปยิ่งขึ้น และแพทย์ โรงพยาบาล ป้องกันความเสี่ยงของตนเอง โดยการบวกค่าความเสี่ยงทั้งหมดลงในค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นผลเสียทั้งสองด้าน และเป็นสิ่งที่ควรจะพูดถึงเพื่อให้สังคมเข้าใจว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ ไม่
อันดับแรก เราต้องไม่ให้วัฒนธรรมการฟ้อง ร้องกลายเป็นวัฒธรรมหลักของคนในระบบสุขภาพในประเทศไทย เนื่องจากเป็นที่ปรากฏแน่นอนแล้วว่าประเทศที่มีวัฒนธรรมเช่นนี้ย่อมมีค่าใช้ จ่ายสูงตามไปด้วย โดยทุกคนจะทำเวชปฏิบัติเชิงป้องกัน (Defensive Medicine) ทุกครั้งที่มีความกังวลต่อผลการรักษา ซึ่งภาระจะตกอยู่กับตัวผู้ป่วยเองทั้งสิ้น
ทั้งนี้เราจะสามารถป้องกันวัฒนธรรมการฟ้องร้องได้โดยเราต้องสร้างระบบที่ ต่างฝ่ายต่างมีความไว้วางใจซึ่งกันและกันมากขึ้น ผู้ป่วยที่มีประสบการณ์ที่ไม่ดีต่อผู้ประกอบวิชาชีพบางคน ก็ต้องเข้าใจว่าผู้ที่ประกอบวิชาชีพส่วนใหญ่ก็ยังประกอบวิชาชีพตามมาตรฐาน ที่ควรจะเป็น โดยมีความรับผิดชอบอยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้ เพราะฉะนั้น ประสบการณ์ส่วนบุคคลบางครั้งก็ไม่ควรไปเหมารวม ให้เกียรติและพูดคุยกันอย่างเข้าใจว่าทุกวงการก็มีบุคคลที่มีปัญหาอยู่ ในส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพก็ควรจะมีความเข้าใจว่าไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนที่ต้อง การฟ้องร้องดำเนินคดีกับแพทย์ เนื่องจากพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากมีความเคารพศรัทธาต่อแพทย์เช่นกัน และเราต้องทำความเข้าใจว่าในสังคมส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น อย่าด่วนสรุปว่าใครที่จะมาสร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง
เมื่อแต่ละฝ่ายมีความไว้วางใจกัน ความหวาดระแวง การตั้งป้อมตรวจสอบแต่ละฝ่ายก็จะลดลงด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การพูดคุยเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา แทนที่จะผลักความผิดไปที่ใครบางคน ซึ่งหลายครั้งก็พบว่าในความเสียหายต่างๆก็ไม่มีผู้ที่ทำความผิดจริงๆ เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะได้ทำในสิ่งที่ดีที่สุดก็ตาม
สถิติของการฟ้องร้องของผู้เสียหายจากการรับบริการทางสาธารณสุข มีสถิติย้อนหลังมากน้อยเพียงใด
คดีที่มาสู่แพทยสภานั้น ในช่วงก่อนปี 2540 เฉลี่ยแล้วประมาณ 50-60 รายต่อปี แต่หลังจากช่วงปี 2540 เศษที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เฉลี่ย 200 รายต่อปี ซึ่งคิดเป็นประมาณ 4 เท่า ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้แพทย์เกิดความหวาดกลัว เนื่องจากเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากในระยะเวลาสั้นๆ
หากร่างพ.ร.บ. นี้ จำนวนเรื่องที่ไปสู่แพทยสภาก็น่าจะลดลงหรือไม่
การฟ้องแพทยสภา เป็นการฟ้องเพื่อให้มีการดำเนินการเอาผิดกับแพทย์ในเชิงของมาตรฐานในการ ประกอบวิชาชีพ ส่วนการฟ้องศาลเพื่อต้องการเรียกร้องเงินชดเชย หรือกรณีอาญาก็เพื่อลงโทษแพทย์ที่ทำผิดในเชิงละเมิดต่างกรณีไป กองทุนที่ตั้งขึ้นมาใหม่ เน้นในเรื่องของการลดการฟ้องร้องทางแพ่ง ความเดือดร้อนที่ได้รับการชดเชย ก็จะลดอารมณ์คุกรุ่นที่อาจต้องการดำเนินการทางกฏหมายลงได้ ผู้ที่ได้รับความเสียหายก็จะมีการตอบสนองที่รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความ เป็นธรรม ถ้าระบบได้สร้างความรู้สึกที่ว่าระบบมีความเป็นธรรม และแก้ไขปัญหา การดำเนินการต่อเนื่องก็น่าจะลดลงด้วย
โดยสมมุติฐานนี้มีหลักฐานยืนยันของกรณีการดำเนินการตามมาตรา 41 โดยพบว่าผู้ฟ้องร้องจำนวนหนึ่งเปลี่ยนใจไม่ฟ้องร้อง เพราะได้เงินชดเชยตามมาตรา 41 ซึ่งเกิดจากความสนใจ และเอาใจใส่ของผู้ให้บริการในความพยายามที่จะให้ผู้ป่วยได้รับเงินชดเชย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองได้รับความเป็นธรรมและการเหลียวแลจากเจ้า หน้าที่รัฐ
ในหลายเวทีของเครือข่ายผู้ป่วย ผู้ที่มักจะตกเป็นจำเลยอยู่เสมอก็คือแพทยสภา ที่ว่าทำงานล่าช้า และปกป้องพวกพ้อง
นี่คือปัญหาที่สะท้อนเรื่องความไม่ไว้วางใจของประชาชน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่จำเป็นต้องมีการทำการศึกษาต่อไป เรื่องความล่าช้า ในกรณีของศาล เราจะพบว่ามีความล่าช้าค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่มีการตั้งคำถามต่อความไม่เป็นกลางหรือไม่เป็นกลาง แต่เนื่องจากสถาบันศาลค่อนข้างมีความน่าเชื่อถือ และมีทุนทางสังคมที่ค่อนข้างสูงมาก จนคนทั่วไปไม่มีการตั้งคำถาม แต่เราจะทำอย่างไรให้แพทยสภา ที่มีเจตจำนงในการที่มีกลไกเช่นนี้ออกมาเพื่อรักษามาตรฐานในการประกอบ วิชาชีพ สามารถทำให้คนเกิดความรู้สึกศรัทธาด้วย เช่นเดียวกับกลไกความยุติธรรม ความศรัทธาเกิดจากการมองปัญหาที่ดำรงอยู่และจุดที่ทำให้คนรู้สึกเช่นนี้ เกิดจากอะไร ข้อเท็จจริงคือคนเริ่มศรัทธาน้อยลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนไม่ศรัทธา เราโทษคนไม่ศรัทธาไม่ได้ เราต้องมาพิจารณาว่าเกิดจากประเด็นใดกันแน่
ในกรณีที่มีการจ่ายค่าเสียหาย ระหว่างคนรวย และคนจน มีหลักการในการจ่ายอย่างไร
ในระหว่างการร่างกฏหมายจะมีอยู่สองแนวคิด คือแนวคิดตามหลักกฎหมายแพ่ง คือการคำนึงถึง "ฐานานุรูป" คือซึ่งเมื่อเวลาที่เราพูดถึงคนที่ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถประกอบอาชีพ เลี้ยงตนเองได้ เขาประกอบอาชีพอะไร สามารถหารายได้ได้เท่าไหร่ และชดเชยไปตามจริง ซึ่งในกรณีนี้วงเงินจะแตกต่างกันมากขึ้นอยู่กับผู้ได้รับความเสียหายเป็น อย่างไร ซึ่งในการยกร่างก็มีความต้องการให้มีการชดเชยอย่างเหมาะสม เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น โดยมองว่าน่ามีการเสนอด้วยอัตราเดียวโดยไม่คำนึงถึงฐานานุรูป ซึ่งไม่ว่าคนจะมีฐานะร่ำรวยอย่างไรก็จะได้อัตราเดียวกับผู้ที่มีฐานะด้อย กว่า แต่หลักการนี้ไม่ได้มีการเขียนมาตราไว้ในกฏหมายชัดเจนให้อยู่ในอำนาจของคณะ กรรมการ เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการว่าจะมีการตัดสินอย่างไร
คุณหมอมีความคาดหวังเพียงใดว่ากฎหมายตัวนี้จะผ่านความเห็นชอบจากสภาได้ทันเวลาหรือไม่
เนื่องจากนี่เป็นขั้นตอนทางรัฐสภา และเป็นกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงิน ดังนั้นจึงจะมีการพิจารณาที่ลึกลงในรายละเอียด และมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายกลุ่ม การถกเถียงในประเด็นนี้อาจต้องใช้เวลานานกว่าปกติ เนื่องจากเป็นกฏหมายที่คนมีความคิดเห็นแตกต่างกันมาก และสังคมต้องจัดการความแตกต่างนี้เพื่อนำไปสู่ข้อยุติให้ได้
ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า มีการหาเสียงกันในแพทยสภา จริงหรือไม่
มันน่าจะเป็นการพูดโดยที่ไม่มีข้อมูลหลักฐานใดๆ เป็นการคาดการณ์กันไปที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ทำไมเราไม่มาพูดกันในเนื้อจริงๆ ต่างคนต่างไปพูดเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับกฏหมาย การไม่พูดในทำนองนี้น่าจะทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีได้
ทางกระทรวงสาธารณสุขพยายามที่จะเปิดเวที เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมาพูดกันเกี่ยวกับกฏหมายฉบับนี้พร้อมกันหลายครั้ง แต่ดูเหมือนว่าก็ยังไม่มีการเปิดใจที่เพียงพอ
การมีเวที เป็นเครื่องมือหนึ่งในการที่ใช้ทำความเข้าใจและจัดการกับความเห็นที่แตกต่าง แต่คนที่มา มาด้วยความยึดมั่นถือมั่นและความพยายามที่จะเข้าใจอีกฝ่ายมีไม่มากพอ ประกอบกับความวิตกที่เกิดจากการมองเรื่องเหล่านั้นที่แตกต่างกันไป เวทีก็จะกลายเป็นเวทีขัดแย้ง ไม่ใช่เวทีเพื่อสมานฉันท์ เห็นได้จากหลายเวทีที่หลายฝ่ายมีความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งก็ไม่มีความสุขเท่าไหร่ที่เห็นการเผชิญหน้าเช่นนั้น ยังอยากจะเห็นความถ้อยทีถ้อยอาศัย และคุยกันเพื่อหาทางออกให้กับการแก้ปัญหานี้ในระยะยาว อาจจะเป็นกลไกอื่นที่ช่วยลดการเผชิญหน้าที่ไม่ให้ทั้งแพทย์และคนไข้ ซึ่งต่างฝ่ายต่างจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน และอยู่กันแบบลงตัว ต่างฝ่ายต่างได้รับการให้ความสำคัญและดูแลกันได้ตามสมควร
ข้อมูลจาก นสพ.มติชน วันที่ 15/7/30