29 กรกฎาคม 2553
แพทยสภา เป็นองค์กรวิชาชีพ ที่มีความสำคัญต่อความเป็นความตายของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา จากหน่วยบริการต่างๆ ภายในประเทศ แต่ในครั้งนี้ พวกเราเครือข่ายประชาชนที่มีส่วนร่วม ในการเสนอรายชื่อ เพื่อให้มี พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. …. รู้สึกเศร้าใจ และคาดไม่ถึงว่า องค์กรอย่างแพทยสภาได้ออกมาให้ข้อมูลกับสาธารณะและกับบุคลากรสาธารณสุข ที่เป็นข้อมูลด้านเดียว ข้อมูลที่มีอคติ ข้อมูลที่ให้ร้ายกับ ร่าง พรบ.ฉบับนี้ ทำให้เกิดความไม่เข้าใจและ นำไปสู่ความขัดแย้งกัน ระหว่างผู้ให้การรักษา กับ ผู้ป่วย
ในขณะนี้ สังคมของเรา ต้องใช้ข้อเท็จจริง ต้องใช้สติปัญญา คิด ไตร่ตรอง กับทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว พวกเราจึงได้เดินทางมาเพื่อจะเตือนสติแพทยสภา ในฐานะของพี่น้องร่วมประเทศ ที่ต้องการเห็นความเท่าเทียม ต้องการเห็นคนทุกคนได้รับการดูแลคุ้มครอง เมื่อเขาเหล่านั้นประสบปัญหาจากการรับบริการทางสาธารณสุข ซึ่งในการดูแลนี้ ต้องเป็นการดูแล ที่ให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย คือ ผู้ให้บริการ สาธารณสุข และผู้ป่วย ดังนั้นในสิ่งที่แพทยสภากำลังทำหน้าที่ให้ข้อมูล ชี้แจงเรื่อง พรบ.ฉบับนี้กับแพทย์ พยาบาลและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ ในระบบสาธารณสุข จึงต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริง ของสาระสำคัญและขั้นตอน กระบวนการต่างๆ ในการร่าง พรบ.ฉบับนี้ ที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันร่าง จากการประชุมหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ได้ร่วมกันพิจารณาสาระสำคัญ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ของร่าง พรบ.นี้ จนถึงในขั้นตอนของกฤษฎีกา และได้ออกมาเป็นร่างสุดท้ายที่ส่งให้ ทางรัฐบาลเสนอให้สภาพิจารณา จึงกล่าวได้ว่า ร่างที่แพทยสภาวิจารณ์และกล่าวว่าเป็นร่างที่ NGO ไปแก้ไข ไปกดดันให้รัฐบาลแก้นั้นจึงไม่เป็นความจริง พรบ.ฉบับร่างสุดท้าย นี้เป็นฉบับที่มีตัวแทนของแพทยสภามีส่วนในการเสนอสาระสำคัญมีส่วนในการแก้ไขจากร่างเดิมของภาคประชาชนอย่างมาก เช่น ใน ม.๖ คณะทำงานร่วม ได้แก้จาก “ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด” มาเป็นความเสียหายที่ พรบ.ฉบับนี้ไม่คุ้มครอง หรือไม่นับว่าเป็นความเสียหาย คือ (1) ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดา ของโรคนั้น แม้มีการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ (2) ความเสียหายซึ่งหลีกเลี่ยง มิได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ คำว่า “เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ” นี้ เป็นถ้อยความที่นำไปสู่ ความขัดแย้ง นำไปสู่การที่ต้องมาพิสูจน์ถูกผิด เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และใช้เวลามาก ทำให้ผู้ป่วยก็ไม่ได้รับความดูแลช่วยเหลือ ทำให้แพทย์ก็ต้องมาให้ข้อมูล เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองทำได้ตามมาตรฐานวิชาชีพแล้ว และจากข้อความนี้ ที่ทำให้แพทย์จำนวนมาก กลัว และกังวลกับพรบ.ฉบับนี้ ซึ่งที่ถูกแล้ว ทางแพทยสภา ควรจะต้องบอกกับแพทย์โดยทั่วไป ให้ทราบว่า มาตรานี้ เป็นข้อเสนอ เป็นการแก้ไข มาจากฝั่งของแพทยสภา.. ไม่ใช่เป็นความคิดของภาคประชาชน
พวกเราอยากจะย้ำว่า เจตนารมณ์ของ พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธาณสุขฉบับนี้ เป็นความพยายามที่จะสร้างความเป็นธรรม และหาเครื่องมือมาดูแลทั้งฝั่งผู้ให้บริการเมื่อประสบปัญหา และถูกเรียกร้องค่าเสียหาย ให้มีกองทุนขึ้นมารับความเสี่ยงแทน ให้กองทุนเป็นคนจ่ายแทน และ ในขณะเดียวกัน กองทุนก็จะช่วยเหลือเบื้องต้นกับผู้เสียหาย และพิจารณาจ่ายชดเชยความเสียหายอื่นๆ โดยใช้หลักของการดูความ เสียหายในทางแพ่ง เพื่อลดเงื่อนไขที่ผู้ป่วย จะนำปัญหาไปฟ้องในศาลต่อไป เรื่องหลักสำคัญอย่างนี้ แพทย์สภา ควรนำไปอธิบายให้กับ แพทย์ผู้รักษาทราบ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ผู้รักษา และ ผู้ป่วย พวกเราทั้งสองฝ่าย เป็นผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน ในระบบสาธารณสุขนี้ มีแต่ การสร้างความเข้าใจ มีแต่การหันหน้าเอาข้อเท็จจริงมาปรึกษาหารือกันเท่านั้นที่จะช่วยนำความสงบ และความเคารพในกันและกันให้เกิดขึ้นได้ และการมี พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการ สาธารณสุขนี้ จะช่วยให้พวกเราทุกคนอยู่ร่วมกันได้ดีกว่าเดิม...
ดังนั้น พวกเราขอเรียกร้องให้แพทยสภาและกลุ่มแพทย์ที่ออกมาเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ ขอให้ออกมาพูดความจริงต่อสาธารณะ พร้อมทั้งขอให้หยุดยับยั้งการนำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เข้าสู่วาระการประชุมของสภา แต่ควรให้ร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการของรัฐสภา เพื่อให้มีการอภิปรายในชั้นกรรมาธิการวิสามัญต่อไป....
โดย
ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัด ใน 46 จังหวัด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ชมรมเพื่อนโรคไต เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ประเทศไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ สมาคมผู้บริโภคสงขลา มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนาสมาคมผู้บริโภคขอนแก่น กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)