Consumerthai - 29 ก.ย.เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ยื่นหนังสือต่อ ประธานและคณะกรรมการปฏิรูป ขอให้ช่วยเร่งรัดพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .. เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยการประชุมนี้ และผ่านกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังใช้โดยเร็ว
เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ นำโดยนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เข้ายื่นหนังสือต่อ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ขอให้ช่วยเร่งรัดพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ..โดยเนื้อความในหนังสือระบุว่า
ตามที่เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ เสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552 ซึ่งได้ผ่านการดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการของรัฐสภา โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามรับรอง พร้อมทั้งบรรจุร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา
แต่จนบัดนี้ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณาตามวาระแต่อย่างใด โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่ารอฟังผลการประชุมร่วมระหว่างแพทย์กับภาคประชาชน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีความพยายามจัดประชุมร่วมกันถึง 3 ครั้ง แต่ก็ประสบความล้มเหลวทุกครั้ง เนื่องจากกลุ่มแพทย์ที่ต่อต้านพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้แสดงออกชัดเจนที่จะล้มการประชุมมากกว่าจะหาทางออกร่วมกัน ขณะเดียวกันกลุ่มแพทย์ก็ได้จัดประชุมทั่วประเทศโดยให้ข้อมูลทีบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดต่อเจตนารมณ์ที่ดีของร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวอย่างยิ่ง
ภาคประชาชนจึงมีความกังวลใจอย่างยิ่งว่า หากรัฐบาลปล่อยให้เวลาเนิ่นนานออกไป ความขัดแย้งระระหว่างกลุ่มแพทย์ที่ต่อต้านพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวกับภาคประชาชนจะลุกลามบานปลาย และทำให้การพิจารณาร่างพรบ..ฉบับดังกล่าวอาจล่าช้าไม่ทันในสมัยประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะส่งผลทำให้ความทุกข์ของประชาชนที่ตกเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที การให้ผู้เสียหายไปฟ้องคดีต่อศาลนั้นสร้างความทุกข์ต่อทุกฝ่าย และใช้ระยะเวลานานหลายปี ขณะที่ความเสียหายของประชาชนได้รับจากการรับบริการสาธารณสุขเกิดขึ้นทุกวันและมีจำนวนมาก
ซึ่งอยากให้ประธานและคณะกรรมการปฏิรูป ช่วยเร่งรัดดำเนินการให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยการประชุมนี้ และผ่านกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังใช้โดยเร็ว เพื่อตอบสนองต่อความทุกข์ของประชาชนและแพทย์ที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม นำไปสู่การปฏิรูประบบสาธารณสุขและสังคมโดยรวมต่อไป