เครือข่ายประชาชนคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลางเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการเก็บเงินสมทบ 30 บาท พร้อมขอให้สร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวกัน
เมื่อวันที่ 14 ก .พ. 55 เครือข่ายประชาชนคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลางซึ่งมีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี และ นครนายก เครือข่าย 9 ด้าน และเครือข่ายภาคประชาสังคม จัดแถลงข่าวยื่นข้อเสนอประเด็นสำคัญเพื่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
1.ขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการเก็บเงินสมทบ 30 บาท ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
2.ขอให้รัฐบาลดำเนินการให้ระบบสุขภาพของประเทศมีคุณภาพเป็นมาตรฐานเดียว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมกับประชาชนอย่างถ้วนหน้า
3.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนและผลักดันให้รัฐสภาเร่งพิจารณา(ร่าง)พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันเสนอ และรัฐบาลชุดนี้ได้ให้ความเห็นชอบที่จะพิจารณาต่อเนื่อง เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ป่วย ลดการฟ้องร้อง เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนที่ได้รับความเสียหายจากการไปรับบริการสาธารณสุขได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกระบบ และเพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการป้องกันความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ตามเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายดังกล่าว และขอให้ ทบทวนการขยายการเยียวยา มาตรา 41 เพื่อไปคุ้มครองสิทธิอื่นๆ เพราะโรงพยาบาลเอกชนได้ประโยชน์ เห็นควรผลักดันพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... โดยให้หน่วยบริการเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรับบริการสาธารณสุขนั้นๆ และหากเป็นหน่วยบริการของรัฐ รัฐก็รับภาระแทน
4.ขอให้ทบทวนนโยบายการมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) เพราะเป็นนโยบายที่ขัดต่อมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมตินี้ไปเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 รวมทั้งขัดแย้งและส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากปัจจุบันระบบสุขภาพของประเทศไทยยังมีปัญหาความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นโยบายนี้จะก่อให้เกิดการดึงตัวแพทย์ที่เรียกว่า “สมองไหล” ไปรองรับบริการศูนย์กลางทางการแพทย์มากขึ้น จึงขอให้ทบทวนการใช้เงินสนับสนุนจำนวนมากถึง 4,000 ล้านบาท เพื่อให้บริการชาวต่างชาติ มากกว่าจะใช้เพื่อรองรับประชาชนทุกคนให้ได้รับสิทธิอย่างทั่วถึง เป็นธรรม
5.ขอให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการจ่ายต่อโรคในการรักษาพยาบาล (DRG) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เท่ากับระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อหน่วยบริการและไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ใช้บริการ
นายกำชัย น้อยบรรจง ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง กล่าวว่า ภาคประชาชน พร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างเต็มที่ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545
“พวกเรายินดีที่จะสนับสนุนรัฐบาลที่จะมุ่งที่จะให้ประชาชนไทยทุกคนได้รับสิทธิในการรับบริการสาธารณสุขอย่างเสมอภาคเท่าเทียม ทั่วถึง มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเดินหน้าต่อไป และลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ให้เป็นระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวทั้งประเทศ” ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง กล่าว