กลุ่มรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ แถลงการณ์ ฝ่ายการเมืองอำนาจเก่าเดินหน้าล้มระบบผ่านขั้นที่ 2 แล้ว พร้อมยันสู้ถึงที่สุดร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ
27 ม.ค. 55 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2555 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคใต้ประกอบด้วยเครือข่าย 9 ด้าน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายผู้ติดเชื้อ เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายศิลปินพื้นบ้าน เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และชมรมแพทย์ชนบท ได้ร่วมกันประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ภัยคุกคามระบบหลักประกันสุขภาพที่เดินหน้ามากว่า10 ปี
อนึ่งเครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้ มั่นใจแผนล้มระบบ 4 ขั้นตอนมีจริง ประกาศเปิดตัวกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ พร้อมปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ว่าภัยคุกคามจะมารูปแบบใด เครือข่ายฯร่วมกับชมรมแพทย์ชนบทแจงเหตุระบบหลักประกันบวกกับการส่งเสริมสุขภาพ(สปสช.ผนวกกับ สสส.)ทำให้งบกระจายลงพื้นที่สู่สถานีอนามัยยกระดับเป็นรพสต. เกิดกองทุนสุขภาพท้องถิ่นทำให้เครือข่ายสุขภาพประชาชนมีส่วนร่วมกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น ระบบบัญชียาทำให้ยาราคาถูกลงหลายเท่าตัว และที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมโดยประชาชนร่วมเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการในทุกระดับอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในมิติงานด้านอื่นๆของปัญหาประชาชน ส่งผลให้ผู้เสียอำนาจโกงกินในการจัดซื้อเดิมกังวลหนักตั้งแต่เกิดพรบ.หลักประกันสุขภาพ 2545 ได้โอกาสรื้อระบบผ่านแผน 4 ขั้นตอน ตั้งแต่ 1)ยึดบอร์ดคือคณะกรรมการหลักประกันฯ 2)เปลี่ยนเลขาให้เป็นคนของตัวเอง 3)ของบรายหัวเพิ่มครั้งใหญ่ 4)สร้างกระแสสังคมล้มระบบ
นางสาวชโลม เกตุจินดา ที่ปรึกษาเครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้ ได้ให้ข้อมูลถึงที่มาของพรบ.กว่าจะผ่านมาจนถึงชั้นเสนอกฎหมายโดยพัฒนาจากเงื่อนไขมาตรา 82 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้นมีทั้งการเคลื่อนไหวเสนอรายชื่อกว่า 7หมื่นรายชื่อโดยการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 13 เครือข่ายและร่วมกับข้อมูลทางวิชาการของเครือข่ายนักวิชาการและกลุ่มแพทย์หัวก้าวหน้าในนามการปฏิรูประบบสุขภาพ ซึ่งมีการเสนอร่าง พรบ.ให้พรรคการเมืองต่างๆช่วงปี 2543 และพรรคที่สนใจคือ พรรคไทยรักไทยขณะนั้นนำไปติดยี่ห้อ 30 บาทจนนำมาสู่ชัยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แม้ว่าเมื่อผ่านเป็น พรบ.สู่ปฏิบัติการแล้ว เครือข่ายประชาชนก็ใช้ช่องทางการมีส่วนร่วมตามมาตรา 18(13)การรับฟังความคิดเห็นประจำปี และการเข้าสู่กรรมการชุดต่างๆเพื่อติติงและพัฒนาระบบการทำงานของ สปสช.มาโดยตลอดซึ่งถือเป็นการสร้างสมดุลการบริหารจัดการระบบมากกว่าที่ผ่านมา การเก็บ 30 บาทมีนัยยะเพียงเอายี่ห้อกลับมาไม่ก่อให้เกิดการประหยัดงบใดๆมีแต่สร้างภาระการจัดการแยกผู้ที่ได้รับการยกเว้นกับผู้ต้องจ่ายเป็นการถอยหลังเริ่มหลายมาตรฐานและเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันฯเองนับเป็นการทำลายหลักการสำคัญเป็นการล้มระบบโดยทำลายหลักคิด
นายแพทย์ปวิตร วณิชชานนท์ โรงพยาบาลละงู ให้ข้อมูลว่า เรื่องนี้เป็นความต่อเนื่องมานานจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ที่เป็นปัญหาใหญ่ของระบบสาธารณสุขในอดีตช่วงปี 2521 เริ่มมีชมรมแพทย์ชนบท มีแนวคิดเพื่อจัดการเชิงระบบให้มีการบริหารเพื่อกระจายบุคคลากรให้เหมาะกับความต้องการของพื้นที่และนี่คือหลักคิดเรื่องงบเหมาจ่ายรายหัว ทำให้บุคคลากรถูกบังคับให้ต้องทำงานในพื้นที่ห่างไกลมากกว่าการกระจุกอยู่ในระดับจังหวัดหรือส่วนกลาง จึงไม่แปลกที่มีการตั้งกลุ่มสมาพันธ์แพทย์เพื่อต่อต้านระบบนี้ แต่ยืนยันว่าเป็นเพียงบุคคลากรส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่อาจขาดข้อมูลและโอกาสการแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาระบบอย่างจริงจัง และเน้นว่างบกระจายลงพื้นที่โดยข้ามกลไกเดิมทำให้เกิดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ที่สำคัญคือมีระบบต่อรองที่มีประสิทธิภาพการประหยัดงบการจัดซื้อยาราคาแพงเกินจริง
นายเอกชัย อิสระทะ เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้ ให้ข้อมูลความยากลำบากของภาคประชาชนในการเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านมาแม้จะยกมือโหวตแพ้หลายเรื่องแต่เนื่องจากยังมีกรรมการจากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าใจการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์จึงมีข้อเสนอดีๆมีประโยชน์ต่อประชาชน เช่น การใช้สิทธิล้างไตมีการคิดค่าบริการเหมาจ่าย 1500 บาทต่อครั้งซึ่งมีการศึกษาต้นทุนอยู่ประมาณ 750 บาท แต่ก็ถูกขัดขวางจากกรรมการฝ่ายโรงพยาบาลเอกชน คือนายแพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์(นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน) โดยทำหนังสือถึงเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนไม่ให้ตอบรับ เครือข่ายประชาชนยื่นหนังสือให้มีกระบวนการถอดถอน และมีการตัดสินถึงที่สุดแล้วซึ่งขณะนี้ไม่ควรดำรงตำแหน่งกรรมการแต่ก็ยังคงอยู่ นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวของความไม่โปร่งใสของคณะกรรมการที่กำลังมีการจัดตั้งขึ้นเพื่อล้มระบบ และน่าเป็นห่วงต่อปรากฏการณ์การแทรกแซงจัดตั้งบอร์ดครั้งนี้เป็นอย่างยิ่งเพราะนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิไม่เคยมีผลงานใดๆที่สนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพมาก่อน เป็นการผ่านเข้าสู่แผนขั้นที่ 2 เพื่อคัดสรรเลขาธิการ สปสช.ที่กำลังจะหมดวาระให้เป็นพวกของฝ่ายแพทย์พาณิชย์ธุรกิจการเมือง
นางลมัย ปังแลมาอุเลา เครือข่ายผู้ติดเชื้อสตูล กล่าวว่า ระบบหลักประกันฯพัฒนามาไกลแล้ว อยากถามว่ากลุ่มที่เข้ามาเพราะเห็นเพียงผลประโยชน์ส่วนตัวก็หนักแล้วหรือถ้ายิ่งไม่เห็นคุณค่าความเป็นคนก็จะหนักหนามาก ยันระบบนี้เป็นความมั่นคงของชาวบ้าน และไม่ไว้วางใจนักการเมือง
นายไชย พรหมศรี เครือข่ายผู้สูงอายุยะลา ให้ข้อมูลเรื่องการสื่อสารในเครือข่ายว่า เราต้องรวมพลังเพื่อปกป้องระบบหลักประกัน จะใช้ฐานครูอาวุโสจังหวัดยะลา โดยหน้าที่ประชาสัมพันธ์สื่อสารกับสมาชิก ๔๐๐ และชมรมผู้อาวุโส(๒๐๐)มีการพบปะเป็นประจำ ต่อประเด็นสมาชิกส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ จะสื่อสารประเด็นหลักประกันอย่างไร ในความรู้สึกควรมีการใช้หลักคิดเรื่องเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ซึ่งเรื่องยานอกยาในเป็นประเด็น และการยกเลิกนั้นจะมีระบบอะไรแทนที่ ผู้สูงอายุควรมีบริการที่ชัดเจนถึงพื้นที่ ต้องอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใช้วิธีค่อยๆสลายความน่าเชื่อถือไม่ได้ล้มทันที
นายอรุณ สุวรรณโชติ เครือข่ายผู้สูงอายุพัทลุง ย้ำว่าสปสช.เป็นช่องทางที่ต้องใช้ เพราะเป็นวัยที่เสี่ยงกับการใช้ยา จะต้องสื่อสารรวมตัวกันในเครือข่ายกระจายให้รู้เพราะคนจะได้รับข้อมูลจากด้านไม่ดีของระบบฯและการให้ร้ายของกลุ่มเสียอำนาจที่จะเข้ามายึดระบบใหม่มากกว่า และขอให้ร่วมมือสู้กับปัญหาที่จะเกิดในอนาคต
นายประเสริฐ รักษ์วงศ์ เครือข่ายสื่อพื้นบ้านสงขลา เชื่อว่าภัยคุกคามจะค่อยๆมาไม่ทันรู้ ในครอบครัวประสบปัญหาเปลี่ยนผ่านใช้ระบบเพราะลูกถึงอายุที่ใช้สิทธิราชการไม่ได้ ต้องใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีความสะดวกดี แต่มีข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติไม่ได้บอกคนทั่วไปจะรู้ได้อย่างไรจึงเป็นช่องให้ถูกโจมตีเพื่อค่อยๆล้มระบบได้ง่าย เห็นการให้ข่าวบิดเบือนของสมาพันธ์แพทย์ผ่านสื่อโทรทัศน์หลายครั้ง พร้อมแสดงความกังวลว่าสังคมเข้าสู่ยุคหลอกลวงกันซึ่งๆหน้าจากกลุ่มคนที่ชาวบ้านหวังเป็นที่พึ่ง
นายระนอง ซุ้นสุวรรณ เครือข่ายเกษตรสงขลา ให้ความคิดเห็นว่าสภาองค์กรชุมชนระดับภาคได้แลกเปลี่ยนต่อเรื่องระบบหลักประกันนี้เช่นกันว่า สถานการณ์ตอนนี้คือการต่อสู้กันอย่างชัดเจน พร้อมวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องที่แอบทำกันได้ง่ายๆและส่งผลพลิกผันต่อฐานเสียงทางการเมืองในพื้นที่ของพรรคต่างๆอย่างแน่นอน
นางกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง ตัวแทนเครือข่ายศูนย์ประสานงานฯ ให้ข้อมูลว่าจะมีการประสานเครือข่าย 9 ด้านของแต่ละจังหวัดเนื่องจากทุกเครือข่ายต้องการเคลื่อนไหวเพื่อรับทราบข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และหลายเครือข่ายก็มีข้อเสนอที่ต้องช่วยกันขับเคลื่อนโดยเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์เพราะเริ่มไม่แน่ใจว่าต่อไปจะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ ซึ่งดูแนวโน้มแล้วจะลดช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น ในอนาคตคาดว่าจะเหลือเพียงระบบสั่งการแจกเสื้อให้ประชาชนใส่ต้อนรับสร้างภาพและออกกำลังกายในกิจกรรมต่างๆที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขชอบที่จะทำในอดีต
นางสาวจุฑา สังขชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายหลักประกันภาคประชาชนภาคใต้ ได้สรุปแนวทางการเคลื่อนไหวโดยที่ประชุมได้ระดมแผนปฏิบัติการต่อไป ซึ่งจะมีการจัดเวทีทำความเข้าใจในทุกจังหวัดผ่านการประชุมปกติของแต่ละเครือข่าย โดยจะมีการจัดทีมวิทยากรกลางคือเครือข่ายศูนย์ประสานงานและชมรมแพทย์ชนบทเพื่อให้เกิดชุดข้อมูลที่มีหลักการถูกต้องครบถ้วนเข้าใจง่ายต่อการสื่อสาร โดยใช้ช่องทางสื่อ เช่น Health station วิทยุออนไลน์ คลื่น FM 88 สื่อพื้นบ้านหนังตะลุง โนรา และการสื่อสารสาธารณะทุกรูปแบบที่จะประสานได้ รวมถึงการแถลงข่าวเป็นระยะ
ที่ประชุมมีข้อสรุปให้จัดตั้ง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ ร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศดำเนินการเพื่อตรวจสอบ จับตาการเคลื่อนไหวของส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องในระยะนี้ โดยจะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณะ สิ่งสำคัญคือสังคมจะได้ตรวจสอบข้อกล่าวหาความไม่โปร่งใสของที่มาคณะกรรมการ อนุกรรมการชุดต่างๆของทั้งภาคประชาชน ฝ่ายการเมือง สาธารณสุข และองค์กรที่เกี่ยวของ คือสมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์และทั่วไป และที่แฝงมาจากธุรกิจการแพทย์ต่างๆนั่นคือต้องดูประวัติการทำงาน ฐานรายได้ทรัพย์สิน รายบุคคลของคณะกรรมการ และมั่นใจว่ากรรมการภาคประชาชนยินดีที่จะเปิดเผยทั้งเรื่องทรัพย์สินที่มารายได้การดำรงชีพ และประวัติที่เป็นการต่อสู้เพื่อพัฒนาระบบโดยที่อีกฝ่ายไม่มีเครดิตการสร้างระบบนี้มาก่อน
ทั้งนี้กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้นั้นจะทำหน้าที่จะพิทักษ์รักษาระบบโดยวิธีการตรวจสอบ ตีแผ่ข้อเท็จจริง ติดตามประเมินผลการทำงานของสำนักงานสปสช. คณะกรรมการสปสช.ทั้งที่มาจากภาคประชาชนและรัฐบาลอย่างเข้มข้นเพื่อให้ประโยชน์ตกถึงสังคมและประชาชนโดยรวม
{gallery}001-consumers_net/550130_actionsouth{/gallery}