แต่ก่อนที่สิทธิประโยชน์จะมีความครอบคลุมมากขนาดนี้ ต้องก้าวข้ามผ่านความยากลำบากของผู้ป่วยมิใช่น้อยเลย
เพราะการจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ใดก็ตาม หากมิใช่ผู้บริหารหรือบุคลากรทางการแพทย์เห็นว่ามีความจำเป็นต้องเพิ่ม ก็เป็นเพราะผู้ป่วย ประชาชนธรรมดานี่เองที่ได้รับความเดือดร้อนจากการรักษา และต้องการเรียกร้องสิทธิประโยชน์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของตน
ทั้งนี้ กระบวนการเพิ่ม ลด หรือปรับสิทธิประโยชน์อย่างที่ทราบกันดีว่า เมื่อปี 255 มีโครงการดำเนินการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 7 ฝ่ายเสนอประเด็นที่ต้องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพื่อคัดเลือกนำไปทำการวิจัยความคุ้มทุน คุ้มค่า โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) แล้วนำผลเสนอต่อบอร์ด สปสช.พิจารณา
แต่ก่อนที่จะโครงการนี้ผู้ป่วยล้วนแต่ต้องมาเรียกร้องเอง ที่สำคัญคือมาด้วยอารมณ์ความเดือดร้อนของตัวเองล้วนๆ ซึ่งบางครั้งก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและ สปสช.
นายนิมิตร์เห็นว่า การที่ให้ HITAP และ IHPP มาช่วยวิจัยนับเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะทำให้ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิที่พึงได้ ซึ่งเดิมการเคลื่อนไหวด้านสุขภาพของประชาชนเริ่มต้นจากปัญหาความเดือดร้อนอย่างเดียว บางครั้งมีแต่อารมณ์ไร้เหตุผล แต่เมื่อมีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้อเรียกร้องของประชาชนจะยิ่งเสริมให้ข้อเรียกร้องและการผลักดันเรื่องเหล่านั้นมีความชอบธรรมมากขึ้น และที่สำคัญทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งเท่ากับช่วยลดความขัดแย้งได้
อย่างไรก็ตาม นอกจากโครงการศึกษาพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ฯ แล้ว นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า ยังมีอีกแนวทางหนึ่ง นั่นคือการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระดับประเทศ ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นนี้จัดขึ้นทุกปี เพราะเป็นเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่กำหนดให้ต้องมีการรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น
นพ.จรัลอธิบายอีกว่า การรับฟังความคิดเห็นจะเกี่ยวข้องกับหลากหลายประเด็น ซึ่งเมื่อรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว ประเด็นใดเกี่ยวข้องกับคณะอนุกรรมการชุดใดก็จะส่งเรื่องไปให้คณะอนุกรรมการชุดนั้น อย่างถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ก็จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องส่งไปยังคณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์พิจารณาความเป็นไปได้ จากนั้นจึงเสนอเข้าบอร์ดใหญ่ หรือบอร์ด สปสช.พิจารณา ซึ่งเกี่ยวข้องหลายปัจจัย โดยเฉพาะงบประมาณ มีส่วนเกี่ยวข้องสมดุลกับสิทธิข้าราชการ และประกันสังคมหรือไม่
“ประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือเรื่องงบประมาณ ซึ่งต้องส่งเรื่องไปให้คณะอนุกรรมการการเงินการคลังมาพิจารณาความเป็นไปได้ของงบประมาณอีกทีหนึ่งด้วย หากเห็นชอบทำได้ในวงเงินที่มีอยู่ หรือควรปรับงบประมาณแต่ละปีอย่างไร ก็จะเสนอเป็นการปรับเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวประจำปี เข้าสู่บอร์ด สปสช.พิจารณางบประจำปี ถ้ารัฐบาลเห็นชอบสิทธิประโยชน์นี้ วงเงินรายหัวก็จะเพิ่มขึ้น”
สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัว หากผู้ใช้สิทธิบัตรทองเห็นว่ายังมีปัญหาในเรื่องใด ขอให้ระลึกว่าตนเองมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ฯ
ทั้งนี้ สปสช.แนะนำว่า หากประชาชนสนใจต้องการเสนอหัวข้อหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาสิทธิประโยชน์ เพียงติดต่อผ่านผู้แทนกลุ่มที่คิดว่าเป็นปากเป็นเสียงแทนได้ หรือสืบค้นข้อมูลที่ปรากฏใน http://www.hitap.net/bp/
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 มิถุนายน 2557 10:30 น.