เมื่อใดที่แพทย์สั่งยาเกินจำเป็น ใช้เทคโนโลยีเกินพอดี ภาระก็ตกที่ผู้บริโภค แล้วคนตัวเล็กๆ จะหาทางออกอย่างไร
ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลย ถ้าจะบอกว่า ในโลกนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ แม้กระทั่งการกินบะหมี่สำเร็จ ดูเหมือนง่ายดาย ชั่วพริบตา ก็อิ่มท้องแล้ว แต่เป็นความอิ่มที่ไม่มีคุณภาพ ถ้ากินบ่อยๆ ยังได้ของแถม คือ สารพิษจากผงชูรสสะสมในร่างกาย
ไม่ต่างจากหลายกรณีที่เกิดขึ้น ถ้าต้องการสูตรสำเร็จทางการรักษาพยาบาล ใช้เทคโนโลยีหรือยาเกินพอดี หรือวิธีการใดที่ทำให้หายป่วยทันที นั่นหมายถึง ค่ารักษาพยาบาลที่สูงลิบลิ่ว
หากร่ำรวยมีเงินถุง เงินถัง ก็ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าเป็นคนธรรมดาๆ ที่ไม่ได้มีเงินมากมาย หากต้องจ่ายในราคาที่ไม่สมเหตุสมผล ก็คงต้องคิดหลายตลบ เหมือนเช่นหลายกรณีที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
“ตอนที่แม่เข้าโรงพยาบาลเป็นมะเร็ง ไม่ถึงอาทิตย์หมดไปสามแสนกับการใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชน และตอนนั้นแม่ก็ไม่รู้ตัว ใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจ ให้ยาทางสายยาง เห็นแล้วก็เศร้าใจที่ตัดสินใจแบบนั้น และที่สุดแม่ก็ตาย” ลูกๆ ที่พาแม่มาโรงพยาบาล เล่าให้ฟัง โดยไม่ขอเปิดเผยนาม
“ตอนที่ไปหาหมอที่โรงพยาบาลรัฐ เราบอกหมอไปว่า ปวดท้องด้านขวา หมอก็สั่งซีทีสแกนช่องท้อง ต้องจ่ายหมื่นบาท แต่เรารู้สึกว่าไม่ได้เป็นอะไรมากมายขนาดนั้น ก็ขอทำแค่อัลตร้าซาวด์” หญิงสาววัย 50 กว่าๆ เล่าถึงทางเลือกในการรักษา
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ที่เกิดขึ้น...
ทำไมต้องจ่ายแพง
ส่วนอีกกรณีต้องขึ้นโรง ขึ้นศาล และเธอก็ไม่ขอเปิดเผยชื่อจริง
“ปวดท้องตอนตี 5 ก็ให้คนที่บ้านพาไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน นอน 3 คืน หมอใช้เครื่องมือหลายอย่าง จนในที่สุดทางโรงพยาบาลคิดค่าใช้จ่ายหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท” ใหญ่ เล่า หลังจากเฉลียวใจเรื่องค่าใช้จ่าย และเลือกที่ไม่จ่ายเงินทันที จึงเป็นที่มาของเรื่องราวมากมายในเรื่องการป่วยไข้ เพราะที่ผ่านมา อาการแบบนี้่ฉีดยาเข็มเดียว ก็หายแล้ว
“หมอก็ถามอาการ เราก็บอกว่า อยากถ่าย 2-3 ครั้ง แต่ถ่ายไม่ออก และปวดหลังมาก หมอก็บอกว่า นอนโรงพยาบาลไหม เรามีประกันชีวิต ก็เลยนอนโรงพยาบาล พยาบาลมาให้น้ำเกลือและฉีดยา จากนั้นเอาออกซิเจนมาให้ดม แต่กลิ่นฉุนๆ ดมแล้ว ก็หลับไป มาตื่นอีกทีในห้องไอซียู โดยหมอบอกว่าคนไข้ช็อค ความดันต่ำ ต้องให้ยา เช็คความดัน เช็คการเต้นของหัวใจ เราก็สงสัย”
จากนั้นหมอคนแล้วคนเล่า เข้ามากดท้อง และกดตรงจุดเดิมๆ แล้วบอกว่า ต้องอัลตราซาวด์ สงสัยเป็นนิ่วในถุงน้ำดี แต่อัลตราซาวด์ช่องท้องด้านล่างและบน ทั้งๆ ที่เธอเพิ่งตรวจสุขภาพมา ก็เลยสงสัย พอมีอาการไอ หมอก็บอกว่าต้องเอ็กซเรย์ปอด
วิธีการตรวจเช็คมากมาย ทำให้เธอเริ่มสงสัยว่า การรักษาแบบนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะเธอก็เป็นคนดูแลสุขภาพ การที่แพทย์แปดคนผลัดเปลี่ยนกันมาดูอาการปวดท้อง กดท้องตรงจุดเดิมๆ จากที่เธอไม่ปวด กลายเป็นปวดท้อง แล้วบอกว่าต้องอัลตราซาวด์ช่องท้อง พอมีอาการไอ ก็บอกว่า ความดันต่ำ ต้องอัดยาให้
"เมื่อเราบอกว่า ไม่ได้เป็นอะไร ให้เอาเครื่องมือออก ก็ไม่เอาออก " ใหญ่ เล่า
จนเธอตัดสินใจยุติการรักษา และค่ารักษาพยาบาลอยู่ที่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอรับไม่ได้ จึงทักท้วง ขอดูรายละเอียดการรักษาและปรึกษาผู้รู้ก่อน แต่ในที่สุดจะเดินออกจากโรงพยาบาล ก็ถูกผู้รับผิดชอบในโรงพยาบาลเรียกยามรักษาการไม่ให้ขับรถออกไป แต่เธอและสามีก็หาทางออก โดยเรียกเพื่อนตำรวจมาช่วยเคลียร์ทาง
อย่างไรก็ตาม ใหญ่ ไม่ได้ปฎิเสธค่ารักษาพยาบาลซะทีเดียว แต่ขอตรวจสอบค่าใช้จ่ายก่อน และนั่นทำให้เธอทำหนังสือทักท้วงไปที่ฝ่ายบริหารของโรงพยาบาล จนโรงพยาบาลฟ้องร้องขึ้นศาล
วินิจฉัยแบบไหน...แม่นยำ
กรณีคนไข้ท้องเสียและต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นแสนๆ เป็นกรณีหนึ่งในหลายกรณีที่ผู้ป่วยเดือดร้อน เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีมากมายเกินจำเป็น ไม่ว่าซีทีสแกนที่ต้องเสียเงินหลักหมื่น หรือการผ่านอุโมงค์เครื่องสแกนมะเร็ง ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้แม้จะแม่นยำ แต่อย่างไรก็ตามควรใช้เมื่อจำเป็นกรณีมีข้อบ่งชี้การเกิดโรค เพราะการตรวจลักษณะนี้ แม้จะมีข้อดี แต่ก็มีข้อเสียในเรื่องผลข้างเคียง
" สมัยก่อนแพทย์ตัดสินใจการรักษาให้คนไข้ทั้งหมด สมัยนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น แต่ควรให้การตัดสินใจอยู่ที่คนไข้ โดยหมอให้คำแนะนำ " นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าว
อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีเพื่อวินิจฉัยโรค เป็นวิจารณญาณของแพทย์ ซึ่งมีความคาบเกี่ยวระหว่างจรรยาบรรณและผลประโยชน์
"หากเมื่อใดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหวั่นเกรงว่าจะวินิจฉัยโรคไม่ถูกต้องเต็มร้อย การใช้เทคโนโลยีหลายอย่างก็เป็นทางเลือกของพวกเขา เพื่อป้องกันความผิดพลาด ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่มีความจำเป็น แต่หลายกรณีแพทย์ไม่ได้นึกถึงผลเสีย" คุณหมอสมศักดิ์ เล่า และมองว่า
"เรื่องฟุ่มเฟือยหรือไม่ฟุ่มเฟือย จำเป็นหรือไม่จำเป็น อยู่ที่ความคิด อย่างยาบางตัวอาจมีผลข้างเคียงน้อยกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ แต่แพงขึ้นเป็นสิบเท่า ก็ต้องอธิบายให้คนไข้ฟัง เวลาหมอจะรักษา ก็ต้องอธิบายทางเลือกในการรักษาวิธีอื่นๆ เพื่อให้คนไข้ตัดสินด้วยตัวเอง อย่างการผ่าตัดมีหลายวิธี จะผ่าท้องหรือเจาะรูผ่าท้อง วิธีการนี้ผ่าแล้วไปทำงานได้เลย ส่วนการผ่าท้องอยู่โรงพยาบาลนานกว่า"
แม้จะมีทางเลือกในการรักษาพยาบาลเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ แต่อย่างไรก็ตาม คุณหมอสมศักดิ์มองว่า โรงพยาบาลเอกชนก็มีจุดอ่อน มีความเป็นธุรกิจมากไป ต่างจากโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งในต่างประเทศจะไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งต่างจากเมืองไทยที่เป็นธุรกิจ
"ปกติแล้วค่าผ่าตัดในโรงพยาบาลจะมีตารางบอกราคาไว้ทุกแห่ง เนื่องจากกฎหมายบังคับไว้ เพื่อให้คนไข้ดูค่าใช้จ่าย แต่ผมดูแล้ว ส่วนใหญ่ใส่ข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งเข้าไปดูยากมาก" คุณหมอสมศักดิ์ บอก และโยงว่า เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย แพทย์บ้านเราอธิบายอาการให้คนไข้ฟังน้อยมาก ต่างจากในอเมริกา มีกฎบังคับว่า จะรักษาอย่างไรต้องมีคำอธิบายสามอย่างคือ ป่วยเป็นอะไร จะรักษาอย่างไร การรักษาแบบนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ถ้าไม่ทำการรักษาด้วยวิธีการนี้ วิธีอื่นมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร ค่าใช้จ่ายการรักษาเท่าไหร่ ผมคิดว่า ต้องให้ข้อมูลคนไข้ ให้ญาติพี่น้องเขาตัดสินใจกันเอง และที่ผมเห็นจากการประชุมวิชาการของพวกแพทย์ ใช้ระบบสั่งยาให้คนไข้เยอะมาก เพราะพวกเขากลัวถูกฟ้อง ถ้ารักษาไม่ถูกต้อง จึงต้องมีคำอธิบายให้คนไข้ฟัง"
เนื่องจากมีการฟ้องร้องเรื่องการรักษาผู้ป่วยอยู่เนื่องๆ คุณหมอยกตัวอย่างว่า กรณีคนไข้ป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบ การเจาะเลือด ก็มีโอกาสวินิจฉัยถูกต้องเพียง 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีทางทำได้เต็มร้อย
"ก็เลยมีการป้องกันปัญหาที่จะมาถึงตัวหมอ พวกเขาจึงใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ละเอียดมากขึ้น แต่คนไข้ต้องเสียเงินเป็นแสนๆ นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โรงพยาบาลเอกชนเลือกที่จะทำเช่นนั้น และเคยมีกรณีทำไมไม่ให้ยาตัวนี้ตั้งแต่แรก หรือทำไมไม่ตรวจนั่น ตรวจนี่"
นี่คือ คำตอบส่วนหนึ่งนายกแพทย์สภา แต่ไม่ใช่บทสรุปทั้งหมด
ทางออกของปัญหา
จะมีคนไข้สักกี่คนที่กล้าตั้งคำถามกับค่าใช้จ่ายที่เกินจริง และกล้าที่จะเรียกร้องขอความเป็นธรรม เหมือนเช่นที่ 'ใหญ่' ไม่ยอมรับค่าใช้จ่ายที่ไม่สมเหตุสมผลในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง จึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษาจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยทำหนังสือทักท้วงค่ารักษาพยาบาลไปที่โรงพยาบาล แม้โรงพยาบาลจะฟ้องศาล แต่คนไข้ก็สู้คดี จนถึงกระบวนการไกล่เกลี่ยจากค่าใช้จ่ายแสนสี่ ทางโรงพยาบาลยอมความให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเจ็ดหมื่นบาท
สวนีย์ ฉ่ำเฉลียว เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มีหลายกรณีที่ค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลเกินจริง ก็แนะนำให้ผู้บริโภคทำจดหมายสอบถามไปที่กรรมการโรงพยาบาล ระหว่างรอคำตอบ ผู้บริโภคก็ชลอการจ่ายเงิน แต่ไม่มีคำตอบใดๆ จากโรงพยาบาล จนเป็นคดีความ
"เท่าที่ได้รับการร้องเรียน บางทีผู้บริโภคก็ไม่สมัครใจในการรักษา และบางกรณีผู้ป่วยก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่มีการปั๊มหัวใจ ให้ออกซิเย่น การรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ ทำให้ผู้บริโภคเสียค่าใช้จ่ายเยอะ" สวนีย์ ให้ข้อมูล พร้อมคำแนะนำเบื้องต้นว่า ถ้าค่ารักษาพยาบาลไม่สมเหตุสมผล มีการใช้เทคโนโลยีที่เกินจริง ข้อแรก เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ก็ใช้กระบวนการทักท้วงไปที่โรงพยาบาล โดยทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร
"แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ค่ารักษาพยาบาลยังอยู่ อย่างกรณีคุณใหญ่ ยอมให้โรงพยาบาลฟ้อง และต่อสู้ในชั้นศาล เพื่อพิสูจน์ว่าไม่จำเป็นต้องรักษาแบบนั้นเลย ทั้งๆ ที่คนไข้ทักท้วงแล้วว่า ร่างกายไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่หมอบอกว่า ต้องตรวจ ซึ่งไม่เกี่ยวกับโรคที่รักษา"
ส่วนอีกเรื่องที่สวนีย์ ยกตัวอย่างคือ กรณีเข้าโรงพยาบาลเพื่อลดน้ำหนัก จากนั้นมีการจัดคอร์สลดน้ำหนักราคาประมาณแสนกว่าๆ โดยผู้บริโภคบอกไปว่า เคยกินยาลดน้ำหนัก และไปเข้าคอร์สที่อื่นมา แต่ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ ทางโรงพยาบาลก็บอกว่า คอร์สที่จัดให้สามารถลดน้ำหนักได้
"แม้จะใช้นวัตกรรมต่างๆ ทั้งการนวด ใช้แรงสั่นสะเทือน เธอก็ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ กรณีนี้ไม่ได้อ้วนเลย แต่ก็พยายามลดความอ้วน เมื่อลดไม่ได้ก็ให้ลดค่าใช้จ่าย ทางศูนย์ความงามในโรงพยาบาลก็ยอม"
อย่างไรก็ตาม สวนีย์มีข้อแนะนำว่า เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในเรื่องค่าใช้จ่ายเกินจริง ต้องทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึงผู้บริหารโรงพยาบาล ถ้าติดต่อไปโดยไม่มีหลักฐาน ก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าไม่สามารถยุติได้ ก็ใช้กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ย
ถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น เธอแนะนำว่า สามารถปรึกษา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ,สภาทนายความ ,กรมคุ้มครองสิทธิ สำนักงานยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม มีทนายความอาสาให้คำปรึกษาผู้บริโภค และให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคเป็นคดีๆ ไป หรือผู้บริโภคจะเอาข้อมูลหลักฐานเอกสาร ปรึกษานิติกรประจำศาล เนื่องจากเป็นคดีผู้บริโภค เพราะโรงพยาบาลคือผู้ประกอบการ จึงสามารถใช้พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฟ้อง โดยดูจากทุนทรัพย์ในการรักษาเกินจริง ถ้าไม่เกินสามแสนก็ไปฟ้องร้องที่ศาลแขวง ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นต้องจ้างทนายความ นิติกรสามารถเขียนคำฟ้องได้
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เป็นปัญหาที่มีมานาน เรื่องค่ารักษาพยาบาลที่เกินจริง อย่างเรื่องยาหรือการรักษาอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น
"บางกรณีอ้างระบบมาตรฐานหรือประสิทธิภาพ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เกินจริง เราก็มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ที่เข้ามาควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพ เพราะระบบการแพทย์ในโรงพยาบาลหลายแห่งจะติดเรื่องการจ่ายยาต่างประเทศ หรือการตรวจที่ฟุ่มเฟือยเกินจริง ต้องมีหน่วยงานควบคุม เพราะมีปัญหางบประมาณบานปลายในการดูแลสุขภาพ และเป็นสิทธิของประชาชน ไม่ควรมีระบบทุจริตในการรักษาพยาบาล"
นอกจากประเด็นดังกล่าว คุณหมอกรรมการสิทธิมนุษยชน ยังมองไปถึงเรื่องการดูแลชนกลุ่มน้อยที่ไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งโรงพยาบาลรัฐตามชายแดนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เนื่องจากพวกเขาเข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพ
"ทั้งๆ ที่หลักการรักษาพยาบาล ต้องมียาหลักที่บังคับใช้ แต่หลายแห่งใช้ยาต่างประเทศ ทำให้เกิดช่องว่างการใช้จ่ายที่เกินจริง"
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ-ไลฟ์สไตล์ วันที่ 19 พฤษภาคม 2557 18:34