สปส. เพิ่มสิทธิผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ 5 รายการ ทั้งหัวใจ ปอด ตับ ตับอ่อน รวมถึงให้สิทธิผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่า 1 อวัยวะพร้อมกัน เริ่มมีผลตั้งแต่เดือน พ.ค. นี้ ผู้ประกันขอใช้สิทธิได้ผ่าน รพ. 5 แห่ง
วันนี้ (17 พ.ค.) นางอำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา คณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบขยายความคุ้มครองการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะให้ แก่ผู้ประกันตน 5 รายการ ประกอบด้วย การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ, การผ่าตัดปลูกถ่ายปอด, การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ, การผ่าตัดปลูกถ่ายตับอ่อน และการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่าหนึ่งอวัยวะพร้อมกัน ได้แก่ หัวใจและปอด หัวใจและไต ตับและไต ตับอ่อนและไต
เลขาธิการ สปส. กล่าวอีกว่า ส่วนหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราบริการทางการแพทย์นั้น สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่ารักษาทั้งผู้บริจาคอวัยวะ และผู้รับบริจาคโดยครอบคลุมค่าใช้จ่ายดังนี้ ค่าเตรียมก่อนการผ่าตัด ผู้บริจาคสมองตาย ผู้บริจาคที่มีชีวิต และผู้รับบริจาค ค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารับการผ่าตัดของผู้รับบริจาค กรณีมีภาวะแทรกซ้อน และกรณีไม่มีภาวะแทรกซ้อนโดยจ่ายตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขแต่ละอวัยวะและตามแนวทางการรักษาที่กำหนดและค่าใช้จ่ายหลังการผ่า ตัดซึ่งได้แก่การตรวจรักษา การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจระดับยากดภูมิคุ้มกัน และยากดภูมิคุ้มกัน
นางอำมร กล่าวด้วยว่า ปีนี้สำนักงานประกันสังคมคาดการณ์งบประมาณที่จะต้องใช้ในการขยายความคุ้ม ครองข้างต้นประมาณ 23 ล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียดแต่ละรายการได้แก่ ค่าใช้จ่ายการผ่าตัดและค่ายากดภูมิกันปีแรก โดยค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดที่ให้สิทธิ ได้แก่ การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ ปอด 1,055,000 บาทต่อราย การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ 1,166,400 บาทต่อราย การปลูกถ่ายตับอ่อน 1,166,400 บาทต่อราย ส่วนการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่าหนึ่งอวัยวะได้แก่ การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ และปลูกถ่ายไต 1,055,000 บาทต่อราย และกรณีอื่นๆ 1,166,400 บาทต่อราย รวมทั้งค่าใช้จ่ายยากดภูมิคุ้มกันปีที่ 3 เป็นต้นไป จนถึงตลอดชีวิต 222,000-240,000 บาทต่อราย
ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนที่มีคุณสมบัติ ข้อบ่งชี้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดสามารถเข้ารับการผ่าตัด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะต้องขออนุมัติสิทธิก่อน และเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลในความตกลง ซึ่งในเบื้องต้นสำนักงานประกันสังคมจะขอความร่วมมือให้สถานพยาบาลที่สามารถ ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะได้ 5 แห่งขณะนี้ คือ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เข้าร่วมเป็นสถานพยาบาลในความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมต่อไป หากลูกจ้าง ผู้ประกันตนติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 12 แห่ง/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือ โทร. 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
“ก่อนหน้านี้ สำนักงานประกันสังคมได้ให้สิทธิผู้ประกันตนผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ปลูกถ่ายไขกระดูก และปลูกถ่ายไต ไปแล้วกว่า 1,000 ราย และในครั้งนี้ได้มีการขยายความคุ้มครองแก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจล้มเหลวชนิดรุนแรง โรคปอดที่มีอันตรายถึงชีวิต โรคตับเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นต้น ซึ่งโรคดังกล่าวไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ จึงต้องได้รับการรักษาโดยการปลูกถ่ายเปลี่ยนอวัยวะ จะทำให้ผู้ประกันตนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” เลขาธิการ สปส. กล่าว
ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 พฤษภาคม 2557 16:52 น.