บริการสุขภาพ

มติบอร์ด สปสช.ให้จ่ายแบบสมัครใจเริ่ม 1 ก.ย.

บอร์ด สปสช.สรุปเกณฑ์ร่วมจ่าย 30 บาท ให้เก็บผู้ใช้บริการตั้งแต่โรงพยาบาลอำเภอขึ้นไป ลงมติแปลกจ่ายแบบสมัครใจได้ หรือใครไม่อยากจ่ายก็ไม่ต้องจ่าย เริ่มพร้อมกันทั่วประเทศ 1 ก.ย.นี้ ด้านชมรมเพื่อนโรคไต ยื่น “วิทยา” ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ลดเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน

วันนี้ (10 ก.ค.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่อง การดำเนินงานตามนโยบายการร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาทต่อครั้ง ของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บอร์ด สปสช.ได้มีมติให้มีการร่วมจ่ายกรณีที่ประชาชนไปใช้บริการ และได้รับยาเท่านั้น หากไม่มีการสั่งยาก็ไม่ต้องร่วมจ่าย ยกเว้น คนยากจน (จากฐานข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย) และผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล

นายวิทยา กล่าวว่า การ ประชุมครั้งนี้ บอร์ด สปสช.มีมติให้ร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาท ในกรณีที่ผู้ใช้สิทธิใช้บริการตั้งแต่โรงพยาบาลระดับอำเภอหรือโรงพยาบาล ชุมชน (รพช.) ขึ้นไป โดยยกเว้นสำหรับผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง บุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ฉบับที่ 1 และ 2 จำนวน 23 กลุ่ม ส่วนบุคคลที่อยู่นอกเหนือข้อยกเว้นขึ้นกับความสมัครใจในการร่วมจ่าย โดยจะเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 กันยายน 2555

“การร่วมจ่าย 30 บาท ไม่ได้บังคับประชาชน แต่อยู่ที่ดุลพินิจของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นศักดิ์ศรีของผู้ใช้บริการ หาก เขาใช้บริการจนถึงขั้นรับยาแล้วไม่ต้องการร่วมจ่ายก็ไม่ต้องจ่าย ส่วนการร่วมจ่ายจะได้ยอดเข้าโรงพยาบาลเท่าไหร่ ไม่ได้คำนึงถึงในส่วนนั้น ทั้งนี้ เชื่อว่า ส่วนใหญ่จะไม่เกิดกรณีประชาชนไม่ร่วมจ่าย โดยในทางปฏิบัติจะมีแบบฟอร์มให้ผู้ใช้บริการเลือกว่าจะร่วมจ่ายหรือไม่ร่วม จ่าย” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ด้านนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ บอร์ด สปสช. กล่าวว่า สิทธิ ประโยชน์และคุณภาพบริการที่ประชาชนจะได้รับเพิ่มขึ้นจากการร่วมจ่าย 30 บาทนั้น คือ เมื่อเกิดกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน ผู้ป่วยได้รับบริการทุกที่ โดยไม่ถามสิทธิและไม่ต้องสำรองจ่ายเงินก่อน กรณีเจ็บป่วยรุนแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูง ประชาชนได้รับการดูแลที่ได้มาตรฐานในทุกระบบหลักประกัน ในหน่วยบริการทุกระดับตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป อีกทั้งจะเพิ่มบริการในช่วงบ่ายและไม่หยุดช่วงเที่ยงเพื่อลดความแออัดของการ รับบริการในโรงพยาบาลทุกระดับ รวมทั้งผู้ป่วยสูงอายุจะได้รับบริการโดยไม่ต้องรอคิว ประชาชนจะได้รับการคัดกรองเพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรคเรื้อรังต่างๆ เมื่อประชาชนไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิจะได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ โดยหากมีความจำเป็นต้องรับการปรึกษาจะได้รับการปรึกษาผ่านระบบให้บริการด้าน การรักษาพยาบาลทางไกล( telemedicine) โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประชาชนได้รับความสะดวกในการเปลี่ยนหน่วยบริการปฐมภูมิมากขึ้นโดยใช้เอกสาร เพียงแค่บัตรประชาชนหรือเอกสารที่ทางราชการจัดให้ที่มีเลข 13 หลัก และสามารถเปลี่ยนหน่วยได้เพิ่มจากปีละไม่เกิน 2 ครั้งเป็นปีละไม่เกิน 4 ครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนเริ่มการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยจำนวน 10 คน นำโดย นายสหรัฐ ศราภัยวานิช รักษาการประธานชมรม เข้ายื่นหนังสือถึง นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.ขอให้ดำเนินการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง เพื่อรองรับการขยายนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน

นายสหรัฐ กล่าวว่า ทราบมาว่า รัฐบาลจะมีการขยายสิทธิผู้ป่วยไตวายเรื้อรังให้เท่าเทียม 3 กองทุน แต่ปัญหาคือ ปัจจุบันในแต่ละกองทุนยังได้รับสิทธิที่ไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะวิธีการจ่ายเงิน ค่ายารักษา สิ่งเหล่านี้ยังมีความแตกต่างมาก ยกตัวอย่าง การฟอกเลือด ในระบบบัตรทอง แม้จะจ่ายให้หน่วยบริการ 1,500 บาท แต่หากเป็นผู้ป่วยไตวายก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ต้องจ่ายเอง 500 บาท โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) จะจ่ายให้ 1,000 บาท

ส่วนประกันสังคม มีการแบ่ง 2 กลุ่มเหมือนกัน โดยกลุ่มแรกหากป่วยหลังเข้าประกันสังคม รัฐจะจ่ายให้ 1,500 บาท แต่หากมีส่วนต่าง ผู้ป่วยต้องจ่ายเอง กลุ่มสอง หากป่วยก่อนเข้าประกันสังคม ต้องจ่ายเอง 500 บาท รัฐจ่ายเพิ่ม 1,000 บาท ขณะที่สิทธิข้าราชการ จ่ายให้ 2,000 บาท ซึ่งตรงนี้ไม่เสมอภาคอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น อยาก ให้รัฐบาลชัดเจน โดยควรเริ่มจาก สปสช.ก่อน จากนั้นเชื่อว่า แต่ละกองทุนจะตามกันไปเอง คือ ให้ สปสช.ยกเลิกการเรียกเก็บร่วมจ่าย 500 บาทต่อการฟอกเลือดหนึ่งครั้ง ในกรณีผู้ป่วยเก่าฟอกเลือดก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 2 พันกว่าคน และกรณีผู้ป่วยรายใหม่ที่เดิมจ่าย 1,500 บาท ขอให้ร่วมจ่ายเหลือเพียง 1,000 บาท นอกจากนี้ ยังให้ผู้ป่วยไตวายรายใหม่ทุกคนที่ไม่มีข้อห้ามทางการแพทย์ให้เริ่มต้นทำการ ทดแทนไตผ่านช่องท้องก่อน เพราะเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ดีกว่า

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 กรกฎาคม 2555

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน