บริการสุขภาพ

นายกฯ มอบ “วิทยา” กำหนดมาตรการใช้ยาเหมาะสม-คุ้มค่าร่วม 3 กองทุน

สธ.17 มิ.ย.- นายกรัฐมนตรี มอบ รมว.สธ. เป็นประธานกรรมการบริหารยา กำหนดมาตรการการใช้ยาอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า บูรณาการร่วม 3 กองทุน จัด 2 มาตรการแก้ไขระยะสั้น ระยะยาว ให้ใช้ยาคุ้มค่า เหมาะสม โดยใช้กลไกต่อรองราคายาที่ใช้มากและราคาแพง มีผู้ผลิตรายเดียว

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการใช้ยาของคนไทย ว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 32 ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดในปี 2542 เพิ่มเป็นร้อยละ 46 ในปี 2551 คิดเป็นมูลค่าการขายปลีกสูงถึงประมาณ 270,000 ล้านบาท หรือมูลค่าการขายส่ง 150,000 ล้านบาท โดย 2 ใน 3 เป็นยานำเข้าจากต่างประเทศ ร้อยละ 65 ของมูลค่าการใช้ยาทั้งหมดเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ กลุ่มยาที่มีมูลค่าการใช้สูง อาทิ ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร ยาบรรเทาอาการปวดลดการอักเสบ ยาลดไขมันในเลือด และยาลดความดันโลหิต

ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ 1 ชุด มี รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและกลไก มาตรการควบคุมกำกับการใช้ยาให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า บูรณาการร่วมกันของทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือประกันสังคม บัตรทอง และสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งที่ประชุมที่ผ่านมามีมติให้ดำเนินการมาตรการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และตั้งคณะทำงานรับผิดชอบในแต่ละเรื่อง

มาตรการระยะสั้นประกอบด้วย 3 มาตรการ  ได้แก่ 1.การเจรจาต่อรองราคายาที่มีราคาแพงและมีการใช้จำนวนมาก โดยเฉพาะยานอกบัญชียาหลักฯ ที่มีผู้จำหน่ายรายเดียว ได้มอบให้องค์การเภสัชกรรม ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง  กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์  กระทรวงสาธารณสุข  และกระทรวงกลาโหม  กำหนดรายการยาและระยะเวลาในการดำเนินการให้ชัดเจน 2.การควบคุมกำกับการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักฯ และยาต้นแบบในระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ มอบให้กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ สวรส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้เป็นรูปธรรมภายในเดือนกันยายน 2555  และ 3.ให้ 3 กองทุนสุขภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดกลไกกลางในการตรวจสอบการเบิกจ่ายยา

สำหรับมาตรการระยะยาว ได้แก่  1. ให้ 3 กองทุนสุขภาพพัฒนารูปแบบการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เป็นรูปแบบเดียวกัน คือ การจ่ายแบบตกลงราคาล่วงหน้า คิดเป็นรายหัว ซึ่งระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดำเนินการอยู่แล้ว  โดยมอบหมายให้ศูนย์พัฒนาโรคร่วมไทย  เครือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2556

2.ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และกรมในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จัดทำนโยบายกำกับการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติและส่งเสริมการใช้ยาชื่อ สามัญ การสร้างระบบสร้างความเชื่อมั่นต่อยาชื่อสามัญที่จำหน่ายในท้องตลาด และสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเรื่องการใช้ยา  โดยให้จัดทำแผนดำเนินการและงบประมาณให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

และ 3.มอบให้กรมการแพทย์ ร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยต่าง ๆ จัดทำแนวเวชปฏิบัติในการสั่งใช้ยานอกบัญชียาหลักในกลุ่มที่มีมูลค่าการใช้ยา สูง จัดทำข้อบ่งชี้การใช้ตามแนวเวชปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2555 เพื่อเริ่มใช้ในปี 2556 ทั้งนี้ ให้แต่ละคณะทำงานตามมาตรการระยะสั้นและระยะยาว นำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานในการประชุมครั้งต่อไป ในเดือนกรกฎาคม 2555.- สำนักข่าวไทย

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน