บริการสุขภาพ

เครือข่ายสุขภาพส่งจดหมายเปิดผนึกถามนายกฯจัดตั้ง “เมดิคัลฮับ” ตามมหาวิทยาลัยแพทย์ของรัฐ ดูผลกระทบที่จะเกิดกับคนไทยหรือยัง ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย

(กรุงเทพฯ/ 6 ก.พ.55) น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ตามที่นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบในหลักการและอนุมัติงบประมาณ การจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูง หรือเมดิคัลฮับ (Medical Hub) โรงเรียนแพทย์ต่างๆ ทางเครือข่ายภาคีสุขภาพทั้งหมด 22 เครือข่าย อาทิ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย , มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ฯลฯ ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ขอให้ตรวจสอบการจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูง หรือเมดิคัลฮับ (Medical Hub) ในส่วนกลางและภูมิภาค ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 มตินโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554

“การผลักดันให้ไทยเป็นเมดิคัลฮับมีผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขไทยอย่างมาก แม้ในตัวเลขทางเศรษฐกิจอาจจะดูดี ดังนั้นขอให้รัฐบาลดำเนินนโยบายนี้ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ว่า “ให้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง สุขภาพนานาชาติ ระยะที่ ๒ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการเฉพาะกิจของนายกรัฐมนตรีเพื่อพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง สุขภาพนานาชาติด้านการรักษาพยาบาล ดำเนินนโยบายหรือยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติที่ไม่กระทบต่อ บริการสุขภาพสำหรับประชาชนไทย และต้องพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง ในการกำหนดและพัฒนานโยบายดังกล่าว ทั้งนโยบายระดับชาติและแผนปฏิบัติการเพื่อลดผลกระทบในทางลบต่อการพัฒนาระบบ บริการสุขภาพสำหรับคนไทย

จากงานศึกษาของ รศ.ดร.อัญชนา ณ ระนอง และ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการขององค์การอนามัยโลกระบุว่า แม้ประเทศไทยจะมีรายได้มากขึ้น แต่ผลกระทบจากเมดิคัลฮับทำให้เกิดการขาดแคลนแพทย์ และทำให้ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น โดยมีข้อเสนอให้เก็บภาษีจากผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาเพื่อไปสนับสนุนการผลิตแพทย์ และรักษาอาจารย์แพทย์ไว้ในระบบ แต่ข้อเสนอนี้ถูกคัดค้านโดยรัฐบาลและภาคเอกชน

“หากไม่มีการจัดการที่ดี การผลักดันอุตสาหกรรมการรักษาพยาบาลเพื่อคนไข้ต่างชาติ (Medical Tourism) จะเป็นภาระหนักอึ้งของระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

http://www.who.int/bulletin/volumes/89/5/09-072249/en/index.html


…………………….

จดหมายเปิดผนึก

๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

เรื่อง                       ขอให้ตรวจสอบการจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูง หรือเมดิคัลฮับ (Medical Hub) ในส่วนกลางและภูมิภาค ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 มตินโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554

เรียน นายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)

สำเนา    รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์)

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอแผนงานโครงการในพื้นที่  ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน (จำแนกประเภท) ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๕  มกราคม ๒๕๕๕  ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ โดย “สำหรับโครงการจัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพและศูนย์บริการสาธารณสุข (Medical Hub) ให้ จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางในการให้บริการด้านสาธารณสุขในภูมิภาค ทั้งนี้ ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่รับไปจัดทำภาพรวมทั้งระบบที่มีการบูรณาการเชื่อมโยง โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่และได้รับการสนับสนุนจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ๒๕๕๕ ไปบางส่วนแล้ว พร้อมทั้งระบุความเชี่ยวชาญเฉพาะ (Areas of Excellence) ความพร้อมด้านบุคลากร การสร้างเครือข่ายทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ และแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพสำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖ ให้เกิดความต่อเนื่อง” และ กำลังจะพิจารณาข้อเสนออย่างเดียวกันกับมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ หลายแห่งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรครั้งต่อไป

การกำหนดนโยบายดังกล่าวของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ได้สร้างความกังวลต่อเครือข่ายภาคีภาคประชาชนที่ร่วมในกระบวนการพัฒนาระบบสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง

·     ขณะนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของโครงการ  แต่รัฐบาลควรตระหนักว่าการดำเนินนโยบายการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ  (medical hub) ต้องทำด้วยความระมัดระวัง และต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านลบที่จะเกิดกับประชาชนไทย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่

·     มติคณะรัฐมนตรีนี้อาจขัดแย้งต่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554  ที่เห็นชอบกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ เรื่องนโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ซึ่งมีมติสำคัญคือ “ให้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง สุขภาพนานาชาติ ระยะที่ ๒ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการเฉพาะกิจของนายกรัฐมนตรีเพื่อพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง สุขภาพนานาชาติด้านการรักษาพยาบาล ดำเนินนโยบายหรือยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติที่ไม่กระทบต่อ บริการสุขภาพสำหรับประชาชนไทย และต้องพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง ในการกำหนดและพัฒนานโยบายดังกล่าว ทั้งนโยบายระดับชาติและแผนปฏิบัติการเพื่อลดผลกระทบในทางลบต่อการพัฒนาระบบ บริการสุขภาพสำหรับคนไทย

·     สมัชชาสุขภาพได้ตระหนักถึงปัญหาทรัพยากรด้านสุขภาพของประเทศมีอยู่อย่างจำกัด และปัจจุบันบุคลากรสาธารณสุขโดยเฉพาะแพทย์และพยาบาล มีความขาดแคลนในภาพรวม และการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ที่ไม่เหมาะสม การผลิตแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขเกือบทั้งหมดอยู่ในภาครัฐ ซึ่งใช้งบประมาณจากเงินภาษีของแผ่นดิน บุคลากรแพทย์และสาธารณสุขจึงมีพันธกิจหลักในการให้บริการสุขภาพเพื่อประชาชนคนไทยเป็นสำคัญ  และนโยบายนี้และระบบที่เป็นอยู่ ทำให้เกิดการดึงแพทย์จากโรงพยาบาลรัฐโดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์ไปสู่ภาคเอกชน ซึ่งมีผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลการเรียนการสอน และภาระงานในภาครัฐ และด้วยข้อจำกัดของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นโยบายนี้อาจกระทบต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและอาจมีผลให้มีค่า ใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้นของประชาชนไทย

·     ประเทศไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลน และการกระจายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งปัญหาการกระจายตัวที่ไม่เหมาะสม รายงานการสำรวจทรัพยากรสาธารณสุข ปี ๒๕๕๑ พบว่าแพทย์ส่วนใหญ่มีการกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล หรือในเมืองใหญ่โดยเฉพาะจังหวัดที่มีโรงเรียนแพทย์ แต่จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดเขตชายแดนภาคใต้มีแพทย์อยู่อย่างเบาบาง ขณะนี้อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ ๑:๒,๐๐๐ และอัตราส่วนแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขต่อประชากรอยู่ที่ ๑: ๕,๗๕๐ คน ในขณะนี้มีเป้าหมายเพิ่มอัตราส่วนเฉลี่ยให้อยู่ที่ ๑:๑,๘๐๐

·     โครงการจัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพและศูนย์บริการสาธารณสุข ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ หากเน้นเฉพาะผลทางเศรษฐกิจ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ดังเช่น จากงานศึกษาของ รศ.ดร.อัญชนา ณ ระนอง และ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการขององค์การอนามัยโลกระบุว่า แม้ประเทศไทยจะมีรายได้มากขึ้น แต่ผลกระทบจากเมดิคัลฮับทำให้เกิดการขาดแคลนแพทย์ และทำให้ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น โดยมีข้อเสนอให้เก็บภาษีจากผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาเพื่อไปสนับสนุนการผลิตแพทย์ และรักษาอาจารย์แพทย์ไว้ในระบบ ซึ่งคณะรัฐมนตรีควรพิจารณาถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายนี้ด้วย “หากไม่มีการจัดการที่ดี การผลักดันอุตสาหกรรมการรักษาพยาบาลเพื่อคนไข้ต่างชาติ (Medical Tourism) จะเป็นภาระหนักอึ้งของระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

ในฐานะที่นายกรัฐมนตรี(นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ดำรงตำแหน่งประธานทั้งในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และหัวหน้ารัฐบาล พึงดำเนินนโยบายใดๆที่ไม่กระทบและไม่สร้างปัญหาต่อระบบสาธารณสุขของไทย ดังนั้น พวกเรา เครือข่ายภาคีภาคประชาชนที่ร่วมในกระบวนการพัฒนาระบบสุขภาพมาโดยตลอด จึงขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๕ และพิจารณาเรื่องทำนองเดียวกันนี้ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเพื่อลดผลกระทบที่จากส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ และให้รัฐบาลดำเนินนโยบายมุ่งมั่นเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบบริการสุขภาพ ของสังคมไทยโดยไม่ยกผลประโยชน์ทางด้านการค้าขึ้นเหนือกว่าชีวิตผู้คน

 

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย

เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก

เครือข่ายผู้บริโภค 42 จังหวัดทั่วประเทศ

เครือข่ายสุขภาพวิถีไท
เครือข่ายหมอยาพื้นบ้าน

ชมรมเพื่อนโรคไต

สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

มูลนิธิเข้าถึงเอดส์

มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์

มูลนิธิสุขภาพไทย

มูลนิธิเภสัชชนบท

มูลนิธิหมอชาวบ้าน

มูลนิธิชีววิถี

มูลนิธิบูรณะนิเวศ

มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา

คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์

แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ

แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา

กลุ่มศึกษาปัญหายา

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน