ผู้ป่วยมะเร็ง-เส้นเลือดโป่งพองข้างกระดูกสันหลัง ผู้ประกันตนสิทธิประกันสังคม ร้องขอความเป็นธรรม จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตลอด แต่ป่วยแล้วไม่ยอมรับผิดชอบค่ารักษา ค้างจ่ายเฉียดแสน รพ.ตามสิทธิ์อ้างสถาบันมะเร็ง-ศิริราช ไม่ใช่ รพ.คู่สัญญา ทั้งๆ ที่เป็นผู้ส่งต่อไปรักษาแต่แรก แถมบอกหมอรักษาเกินจำเป็น
นายมงคล จรูญศักดิ์ อายุ 66 ปี ชาวจังหวัดกาญจนบุรี อาชีพธุรกิจส่วนตัว ผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคม ได้ร้องเรียนต่อสื่อมวลชนกรณีเข้ารับการรักษาตามสิทธิประกันสังคม แต่โรงพยาบาลไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลเพียงบางส่วน หลังจากที่ได้ส่งตัวต่อไปสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และโรงพยาบาลศิริราช ว่า ที่ผ่านมา ได้เป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 ตั้งแต่ปี 2533 และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อปี 2550-2551 ช่วงอายุประมาณ 64-65 ปี มีอาการปวดท้อง และไปหาหมอที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ใน จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิ์ เมื่ออาการดีขึ้นก็กลับบ้าน จากนั้นมีอาการปวดท้องอีกจึงได้ไปโรงพยาบาลธนบุรี 2 พบว่า มีเส้นเลือดใหญ่ข้างกระดูกสันหลังโป่งพอง 3-4 เซนติเมตร และมีก้อนมะเร็งขวางอยู่บริเวณเส้นเลือด สถานพยาบาลต้นสังกัดได้ทำหนังสือส่งตัวมารักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชและสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ทำเคมีบำบัดให้ก้อนเนื้อยุบแล้วจึงรักษาเส้นเลือดโป่งก่อนจะฉายแสง
“ได้ทำการรักษาที่สถาบันมะเร็ง เพื่อให้รักษาเคมีบำบัดจำนวน 16 ครั้ง ตั้งแต่เดือน ก.ย.ปี2551 จนเมื่อ 9 มิ.ย.2552 เกิดอาการแพ้ ทำให้ต้องหยุดการให้เคมีบำบัด และแพทย์สถาบันมะเร็งได้นัดให้ไปรักษาอีกครั้งในวันที่ 17 มิ.ย.จึงได้แจ้งให้กับทางโรงพยาบาลต้นสังกัดทราบ แต่โรงพยาบาลแจ้งว่าระยะเวลากระชั้นชิดออกหนังสือให้ไม่ทัน ทำให้ผมต้องสำรองจ่ายไปก่อนถึง 1.4 หมื่นบาท” นายมงคล กล่าว
นายมงคล กล่าวต่อว่า จากนั้น 26 มิ.ย.และวันที่ 10 ก.ค.คุณหมอได้นัดตรวจสแกนขนาดเส้นเลือดที่โป่ง โดยในครั้งนี้ได้รับใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัด โดยได้สำรองจ่ายไปครั้งละ 2,500 บาท ซึ่งได้เบิกคืนเรียบร้อย จากนั้นโรงพยาบาลศิริราชนัดเจาะเลือดและจองเลือดจากธนาคารเลือด จำนวน 1,760 บาท ซึ่งได้หนังสือส่งตัวก็สามารถเบิกคืนได้ แต่พอคุณหมอ การตรวจหาความผิดปกติด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ เพื่อเช็คหัวใจ โดยมีหนังสือส่งตัว ซึ่งได้สำรองจ่ายไปแล้ว 1.7 หมื่นบาท แต่ยังไม่ได้รับเงินคืน
นายมงคล กล่าวว่า เมื่อ 24 ก.ค.-30 ก.ค.ได้ทำเรื่องขอใบส่งตัวว่าต้องผ่าตัดเส้นเลือดที่โป่งพองในวันที่ 28 ก.ค.มีค่าใช้จ่าย 6.36 แสนบาท แต่มีส่วนเกินที่ต้องจ่ายเอง 1.6 หมื่นบาท ทั้งนี้ในวันที่ 25 ก.ค.ทางโรงพยาบาลศิริราชได้แจ้งกลับไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัด ว่า ให้ต่ออายุใบส่งตัวอีก 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากคนไข้อาการยังไม่ดีขึ้น แต่โรงพยาลแจ้งว่า ไม่ออกใบส่งตัวให้ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.เป็นต้นไป เนื่องจากว่า โรงพยาบาลศิริราชไม่มีสัญญาสัมพันธ์กันกับโรงพยาบาลต้นสังกัด คือ ให้ผู้ป่วยสำรองจ่ายไปก่อนและเบิกคืนภายหลัง ซึ่งค่าใช้จ่ายระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-13 ส.ค.ประมาณ 8.86 หมื่นบาท จากนั้นก็มีการตรวจหลังผ่าตัดอีกในวันที่ 21 ส.ค.เป็นเงิน 5,125 บาท ทางโรงพยาบาลไม่ออกใบส่งตัวให้แต่แจ้งให้สำรองจ่ายและเบิกในภายหลังเช่นกัน
“ขณะนี้ผมได้สำรองเงินจ่ายไปแล้ว แต่ยังเบิกไม่ได้ทั้งสิ้น 5 ครั้ง เป็นเงินกว่า 9.59 หมื่นบาท ทั้งที่ผ่านมาผมก็จ่ายเงินประกันสังคมมาโดยตลอด ในอัตราเต็มเพดานสูงสุด 750 บาทต่อเดือน และที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลก็ทำหนังสือส่งตัวให้มาโดยตลอด แต่พอมีค่ารักษาสูง กลับแจ้งมาว่า โรงพยาบาลที่เคยทำหนังสือส่งตัวมาให้นั้นไม่ได้เป็นคู่สัญญากัน นั่นหมายความว่าอะไร เมื่อแจ้งเรื่องไปยังสำนักงานประกันสังคมส่วนกลาง ก็ได้รับคำตอบเพียงว่า ให้ใจเย็นๆ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการแพทย์ อีกทั้งพูดด้วยท่าทีและน้ำเสียงเหมือนกับว่าเราพูดไม่รู้เรื่อง ให้รอไปก่อน ซึ่งเรื่องนี้รอไม่ได้ เพราะการรักษาต้องดำเนินต่อไปเป็นขั้นตอนตามที่หมอแนะนำ และชีวิตก็รอไม่ได้ด้วย”นายมงคล กล่าว
นายมงคล กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา การจ่ายเงินสมทบกับประกันสังคมตั้งแต่มีกฎหมายนี้ เท่ากับเป็นเรื่องที่หลอกหรือโกหกกัน เพราะไม่ได้ชี้แจงว่าเป็นการรักษาที่เกินสิทธิ์หรือมีเงื่อนไขอื่นใดที่เบิกจ่ายไม่ได้ แต่กลับให้เหตุผลว่าแพทย์รักษาเกินความจำเป็น แล้วคนปกติที่ไหนบ้างที่จะไปนอนพักโรงพยาบาลเป็นหลายสัปดาห์ อีกทั้งโรงพยาบาลศิริราชก็ไม่อนุญาตให้คนไม่ป่วยมานอนเล่น แต่เชื่อว่า เป็นเพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงและทางโรงพยาบาลไม่อยากเบิกให้มากกว่า และพยายามให้ไปใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าแทน แต่ในเมื่อจ่ายเงินสมทบไปตั้งแต่ต้นแล้ว จึงคิดที่จะใช้สิทธิประกันสังคมต่อไป
“ผมรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสิทธิประกันสังคมและโรงพยาบาลต้นสังกัด ทั้งที่ผมก็จ่ายเงินสมทบมาโดยคตลอด และหลังจากนี้ยังมีโปรแกรมที่ยังต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ได้ผ่าตัดในส่วนของเส้นเลือดไปแล้ว จะต้องกลับไปรักษาเคมีบำบัดอีกครั้งหลังจากที่ก่อนหน้านี้ต้องหยุดไปเนื่องจากมีอาการแพ้ โดยต้องถอนฟันให้หมดก่อนฉายแสง เพราะหากดำเนินการภายหลังจากเกรงว่าจะมีการติดเชื้อ ซึ่งจำนวนเงินที่ใช้คงต้องใช้อีกมาก และที่ผ่านมาก็สำรองจ่ายไปจำนวนมาก แต่กลับยังไม่ได้เบิกคืนหรือได้รับความเป็นธรรมอย่างใด ซึ่งแม้แต่แพทย์ที่ให้การรักษาทั้งสถาบันและโรงพยาบาลศิริราชก็ต่างให้กำลังใจว่าสิทธิ์นั้นผมควรต้องได้รับจากประกันสังคม ไม่มีอะไรที่เกินความจำเป็น”นายมงคล กล่าว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ | 2 กันยายน 2552 09:20 น. |