บริการสุขภาพ

ปี′57 สปสช.ได้รับงบกองทุนเอดส์ ให้ยาต้านไวรัส ส่งเสริมดูแลผู้ป่วย

2008_02_09_medicine4_consumสปสช.มีภารกิจการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.มีภารกิจการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในระบบหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ โดยมีงบประมาณแยกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งในปี 2557 ได้รับจัดสรร 2,946.997 ล้านบาท แบ่งเป็นงบดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสและบริการที่เกี่ยวข้อง 2,874.497 ล้านบาท และงบสนับสนุนส่งเสริมการจัดบริการสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 72.5 ล้านบาท ซึ่งจะจัดสรรลงสถานพยาบาลเพื่อชดเชยค่าบริการดูแลผู้ป่วยตามปริมาณงาน และอีกส่วนหนึ่งสำหรับสนับสนุนการจัดบริการเพื่อเพิ่มศักยภาพของสถานพยาบาล ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2556 นั้นข้อมูลล่าสุดผู้ลงทะเบียนสะสมทั้งสิ้น 352,956 คน ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่ 12,355 คน และได้รับยาต้านไวรัส 169,792 คน แบ่งเป็นยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน 156,311 คน และยาต้านไวรัสสูตรดื้อยา 13,481 คน มีผู้รับบริการให้คำปรึกษาเพื่อตรวจเลือดโดยสมัครใจ 239,955 ครั้ง พบผลเลือดบวก 8,819 คน หรือร้อยละ 3.68 ของการตรวจเลือด มีผู้ป่วยได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ตรวจ CD4 146,155 ครั้ง การตรวจปริมาณไวรัสในกระแสเลือด 51,680 ครั้ง และการตรวจเชื้อไวรัสดื้อยา 2,620 คน


นพ.วินัยกล่าวว่า ขณะที่ชุดสิทธิประโยชน์การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.การให้ยาต้านไวรัสและยาอื่น ดังนี้ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเออาร์ที การให้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในทารกแรกเกิด การให้ยาต้านเอชไอวีเพื่อป้องกันการติดเชื้อภายหลังสัมผัสใน 2 กรณี คือ การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังสัมผัสจากการทำงาน และหลังสัมผัสจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงที่เป็นผลข้างเคียงจากยาต้านไวรัส 2.การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อติดตามการรักษา ทั้งการตรวจระดับภูมิคุ้มกัน (CD4) การตรวจปริมาณไวรัสในกระแสเลือดและการตรวจเชื้อไวรัสดื้อยา 3.การให้คำปรึกษาและการตรวจเลือดแบบสมัครใจ และ 4.การป้องกันการแพร่กระจายโรคเอดส์


เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า สิทธิประโยชน์นี้ครอบคลุมผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยสามารถลงทะเบียนเข้ารับบริการได้จากสถานพยาบาลประจำที่ขึ้นทะเบียนไว้ หรือหากมีความจำเป็นก็สามารถเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลอื่นในระบบหลัก ประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่ง สปสช.จะจ่ายชดเชยบริการตามสิทธิประโยชน์และอัตราที่กำหนดไว้ ทั้งนี้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. โทร.1330

 

ข้อมูลจาก นสพ.มติชน ออนไลน์ วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556 

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน