องค์การเภสัชฯโวยดีเอสไอด่วนสรุปดคีฮั้วประมูลซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราฯทำเสียหาย ชี้ไม่เคยได้รับโอกาสชี้แจง
วันที่ 2 พ.ค. ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการอภ. แถลงข่าวชี้แจงหลังถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบความผิดคดีฮั้วประมูล จัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล และส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ตรวจสอบ ว่ารู้สึกผิดหวังผลการสอบสวนของดีเอสไอ เพราะก่อนหน้านี้ ดีเอสไอ ได้แจ้งให้เดินทางไปชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ในวันที่ 7 พ.ค. แต่ดีเอสไอกลับดำเนินการสอบสวนอย่างเร่งด่วน และได้ยื่นเรื่องให้ปปช.ตรวจสอบ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ผ่านมา จึงรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ยังพร้อมให้ความร่วมมือกับ ปปช. ในขั้นตอนทางกฎหมายขั้นต่อไป
นพ.วิทิต กล่าวอีกว่า การดำเนินการของดีเอสไอขณะนี้ เกิดความเสียหายในภาพรวม และตั้งแต่เริ่มเป็นข่าว เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา อภ.ได้รับผลกระทบมาโดยตลอด ขณะนี้ชื่อเสียงเสียหายไปมากแล้ว และยังส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจร่วมกับต่างประเทศ เนื่องจากไม่ไว้วางใจอภ.อีกต่อไป ทั้งนี้ หาก ปปช. ชี้มูลออกมาว่าไม่มีใครผิดในเรื่องนี้ ใครจะรับผิดชอบกับชื่อเสียงที่เสียหายไป ซึ่งเรื่องนี้ผิดหวังมาก ที่ดีเอสไอ ในฐานะพนักงานของรัฐ กระทำต่อพนักงานของรัฐด้วยกัน โดยไม่ได้ให้โอกาสชี้แจง แล้วประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะได้การปฏิบัติอย่างไรจากหน่วยงานนี้ หากเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นกับตัวเอง
นอกจากนี้ นพ.วิทิต ยังระบุว่าได้สอบถามในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) อภ. เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา จะมีมาตรการช่วยเหลือในเรื่องค่าใช้จ่ายในการสู้คดีอย่างไร เนื่องจากพรบ.ฮั้วประมูลที่ดีเอสไอระบุนั้น มีโทษจำคุกถึง 20 ปี และอาจมีขั้นตอนทางกฎหมายยาวนาน ซึ่งคณะกรรมการ ได้ตอบกลับมาว่าไม่ได้มีระเบียบส่วนนี้ระบุชัดเจน แต่อาจให้ความช่วยเหลือในรูปแบบกองทุน ซึ่งแปลว่าหลังจากนี้จะต้องสู้คดีด้วยทุนส่วนตัว อย่างไรก็ตาม นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ดอภ.ได้มอบเบี้ยประชุมครั้งนั้น เพื่อตั้งต้นในการสู้คดี และได้มีประชาชน รวมถึงพนักงานบางส่วนแจ้งความจำนงในการบริจาคมาแล้ว
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการอภ. ยืนยันว่า วัตถุดิบยาพาราเซตตามอล ที่มีปัญหานั้น ได้สั่งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องปริมาณการผลิตขนาดใหญ่ (Mass Production) เนื่องจาก 2 โรงงานที่อภ. ว่าจ้างผลิตก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องคุณภาพมาโดยตลอด จึงได้สั่งมาทดลองผลิตแบบคู่ขนาน ที่โรงงานของอภ. ถ.พระราม 6 ซึ่งขณะนี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่ได้เป็นไปตามที่ดีเอสไอระบุว่า มีการสั่งมาทั้งที่ยังไม่ได้มีการเตรียมพร้อมแต่อย่างใด
ส่วนที่ระบุว่ามีการจัดซื้อวัตถุดิบจากบริษัทเดียว ไม่ทำให้เกิดการแข่งขันราคาที่เป็นธรรม และทำให้รัฐเสียประโยชน์นั้น นพ.วิทิต กล่าวว่า ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทุกประการ โดยขั้นตอนแรก ได้คัดเลือก 4 บริษัท และในเวลาต่อมาได้เลือกจนเหลือ 2 บริษัทให้แข่งขันกัน อย่างไรก็ตาม 1 ใน 2 บริษัทดังกล่าว ไม่ได้ส่งเอกสารในเรื่องมาตรฐานมายืนยัน จึงทำให้ตกเกณฑ์เรื่องคุณสมบัติ จนเหลือบริษัทเดียวในที่สุด ทั้งนี้การจัดซื้อในช่วงดังกล่าวจำเป็นต้องรีบสำรองวัตถุดิบเนื่องจากอยู่ใน ช่วงอุทกภัย จึงไม่สามารถเอามาตรฐานปกติ มาใช้ตรวจสอบช่วงภัยพิบัติได้
โพสต์ทูเดย์ 2/5/56