วันที่26 มีนาคม 56 เวลาประมาณ 10.00 น. ณ ศาลจังหวัดขอนแก่นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข โดยมีโจทก์ที่ ๑ เด็กหญิงนัทธมนต์ พงษ์ธีรมิตร โจทก์ที่ ๒ นางจาฏุพัจน์ พงษ์ธีรมิตร และโจทก์ที่ ๓ นายบุณยสิทธิ์ พงษ์ธีรมิตร ได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ บริษัทโรงพยาบาลขอนแก่นราม และจำเลยที่ ๒ แพทย์หญิงทัศนีย์ โกวิทย์สมบูรณ์ ที่ได้ละเมิดกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้บุตรได้รับความเสียหาย
คดีดังกล่าวนางจาฎุพัจน์ ได้ยื่นฟ้องโรงพยาบาลขอนแก่นราม และแพทย์ที่รักษาเด็กหญิงนัทธมนต์ (น้องบูบู๊) ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2541 ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้น้องบูบู๊เสียชีวิต ศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดี ระบุว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง กระทำการประมาทเลินเล่อ หรือเป็นการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชอบ ชดใช้สินไหมทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 1,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันฟ้องวันที่ 29 ธันวาคม 2541 ต่อมาทางโรงพยาบาลขอนแก่นราม ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลตัดสินให้จำเลยรับผิดชอบค่าเสียหายช่วงเวลาที่รักษา ด.ญ.นัทธมนต์ เป็นเงิน 700,000 บาท และค่าปลงศพ 80,000 บาท และฎีกาในเวลาต่อมา
สิ้นสุดคดี ศาลฎีกาพิพากษายืนตามชั้นอุทธรณ์ ให้โรงพยาบาลขอนแก่นรามและแพทย์ ชดใช้ค่ารักษาพยาบาล เป็นเงิน 700,000 บาท และค่าปลงศพ 80,000 บาท
นางจาฎุพัจน์ พงษ์ธีรมิตร แม่น้องบูบู๊ กล่าวทั้งน้ำตาว่า ที่จริงตนไม่อยากฟ้องร้องโรงพยาบาลและแพทย์ แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมา รวมเป็นเวลากว่า 15 ปี ที่ไม่ได้รับการติดต่อ การเยียวยา จากหมอและโรงพยาบาล ทั้งการต่อสู้คดีเป็นไปด้วยความยากลำบากมาก เช่นการเข้าถึงข้อมูลวิชาการทางการแพทย์, การหาผู้เชี่ยวชาญที่จะมาพิสูจน์ถูกผิดก็ยากเช่นเดียวกัน และการที่ต้องเดินทางมาขึ้นศาลแต่ละครั้งนั้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำ ถึงการสูญเสียในอดีต
“เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2541 ได้ไปคลอดน้องบูบู๊ที่โรงพยาบาลขอนแก่นราม น้องบูบู๊มีอาการตัวเหลือง จึงได้เข้ารับการรักษาตัวด้วยการฉายไฟ 2 วัน ต่อมาวันที่ 12 มกราคม สังเกตเห็นว่าน้องบูบู๊มีอาการตัวเหลืองมาก จะต้องทำการรักษาโดยการเปลี่ยนเลือด แต่แพทย์นำตัวเข้าตู้อบ เป็นเหตุให้น้องบูบู๊ เกิดภาวะ เคอร์นิคเทอรัส (Kerniterus) ระบบเลือดทำลายเยื่อสมอง และสมองพิการ กระทั่งน้องบูบู๊เสียชีวิต เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2545 หลังจากเกิดเหตุ คุณจาฏุพัจน์ พงษ์ธีรมิตร ต้องการคำอธิบายและความรับผิดชอบ กับแพทย์ผู้ทำการรักษา และโรงพยาบาล แต่กลับนิ่งเฉย แจ้งเพียงว่ารักษาดีที่สุดแล้ว อยากได้ค่ารักษาให้ฟ้องร้องเอา จึงเป็นเหตุให้ผู้บริโภคต้องใช้กระบวนการยุติธรรม เป็นทางเลือกสุดท้าย เพื่อพิสูจน์ความรับผิดชอบจากแพทย์”
ทางด้าน นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภค จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า กรณีนี้ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ผู้เสียหายลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้ทางแพทย์ผู้รักษา ออกมารับผิดหรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและเป็นกำลังใจให้ทางผู้เสียหายต่อสู้ต่อไป ซึ่งปัจจุบันการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นกับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายสามารถดำรงชีวิต ได้อย่างปกติสุขธรรมดา และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นกับผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขมีความจำกัดเฉพาะผู้ใช้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เท่านั้น ไม่รวมระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และบริการของโรงพยาบาลเอกชน เช่นกรณีนี้ ทำให้ผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณะสุขไม่มีทางเลือกในการดำเนินการ ที่จะได้รับการชดเชยความเสียหาย นอกจากอาศัยกระบวนยุติธรรม ซึ่งเป็นภาระในการดำเนินการและเป็นอุปสรรคที่สำคัญ ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของผู้ประกอบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ดังนั้นการมีกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่ครอบคลุมทุกคน โดยมีเป้าหมายเพื่อชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ลดคดีความในการฟ้องร้อง และความขัดแย้ง ระหว่างแพทย์กับคนไข้ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาความปลอดภัยของผู้ป่วยในระยะยาว และยกระดับมาตรฐานรักษาพยาบาล เมื่อเกิดความเสียหาย จึงควรให้มีการชดเชยผู้เสียหายในเวลาอันรวดเร็วโดยไม่ต้องพิสูจน์ ความ ถูก- ผิด รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายอันเนื่องมาจากการรับบริการ ซึ่งขณะนี้ตัวร่าง พรบ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... ที่เครือข่ายภาคประชาชนได้รวบรวมรายชื่อเสนอกฎหมายรอการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพิจารณาออกกฎหมายฉบับนี้โดยด่วน ก่อนที่ทุกข์ของผู้บริโภคจะมากไปกว่านี้
{gallery}action/560327_news_konkan{/gallery}