มกอช. ผุดเครื่องหมาย Q ในกรอบแปด เหลี่ยม คุมเข้มมาตรฐานสินค้าส่งผลกระทบสุขภาพของผู้บริโภค ทั้งเนื้อหมู นม เริ่มประกาศใช้ปีหน้าแบบสมัครใจ แต่ถ้าฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 3 แสน เตรียมประสาน อบต. หน่วยงานรับรองสินค้าพื้นเมืองและโอท็อป
นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า โครงการสนับสนุนผู้ประกอบการใช้เครื่องหมาย Q เพื่อรับรองความปลอดภัยของสินค้าอาหารด้วยความสมัครขณะนี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง โดยสามารถรับรองคุณภาพสินค้าได้จำนวน 152 มาตรฐาน รวมผู้ประกอบการทั้งสิ้นกว่า 1 แสนราย ซึ่งคาดว่าจำนวนผู้ประกอบการที่ใช้เครื่องหมาย Q จะเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 3 แสนรายภายในเร็วๆ นี้ และปี 2553 จะสามารถรับรองเครื่องหมาย Q ได้จำนวน 26 มาตรฐาน
ปัจจุบันการบริหารงานของ มกอช. มี พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ รองรับ ประกอบกับทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยในสุขภาพของมนุษย์ ดังนั้น มกอช.จึงกำหนดให้ใช้ตราสัญลักษณ์ Q ภายในกรอบแปดเหลี่ยม ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบการที่ได้รับเครื่องหมายรับรองใหม่นี้ จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานทุกประการ หากมาตรฐานมีข้อบกพร่องจะถูกลงโทษตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตรฯ ปรับวงเงิน ไม่เกิน 3 แสนบาท
อย่างไรก็ตาม เครื่องหมาย Q ในกรอบแปดเหลี่ยมนี้ จะประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2553 เริ่มจากสินค้าที่มีสารตกค้างที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคมากๆ ก่อน เช่น เนื้อสุกร นม ซึ่ง มกอช.จะหารือกับผู้ประกอบการ เพื่อชี้แจงรายละเอียดเงื่อนไขการขอรับตราสัญลักษณ์โดยสมัครใจ สินค้าที่ได้รับแล้วจะทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นมากขึ้นรวมทั้งมีมูลค่าที่สูง กว่าสินค้าทั่วไป ประมาณ 30%
"ในอนาคตมาตรฐานที่มีอยู่ทั่วโลกจะมีกฎหมายออก มารองรับ ดังนั้นการที่ มกอช.กำหนดเครื่องหมาย Qในกรอบแปดเหลี่ยมขึ้นมา จึงถือเป็นการเตรียมพร้อมไว้ระดับหนึ่ง แต่เราไม่ต้องการบังคับใช้กับสินค้าทั้งหมด เพราะผู้ประกอบการบางรายยังไม่พร้อม จึงเริ่มใช้เฉพาะกับสินค้าที่มีผลต่อสุขภาพของคนมากๆ เช่น สารเร่งเนื้อแดงในหมูที่มีการลักลอบใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แต่โดยพื้นฐานของสินค้าทุกรายการแล้วจะต้องได้รับเครื่องหมายQ เบื้องต้นก่อน"
นายนิวัติ กล่าวอีกว่า เพื่อให้มาตรฐานสินค้าที่กำหนดขึ้น มีผลในทางปฏิบัตินั้น ในส่วนของเกษตรกรรายย่อย มกอช.จะประสานกับองค์การบริหารงานส่วนตำบล หรือ อบต. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานรับรองย่อย หรือ CB ย่อย กับสินค้าเกษตรและอาหารในพื้นที่ที่โดดเด่น เช่น สินค้าโอท็อป ได้แก่ ผลไม้ ผักปลอดสารพิษ ผักอินทรีย์ และในอนาคตอาจรวมไปถึง อาหารแปรรูป ซึ่งเจ้าหน้าที่ มกอช.จะจัดฝึกอบรม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ อบต.สามารถออกตรวจสอบรับรองสินค้าด้วยระบบเครื่องมือการตรวจสอบขนาดพกพา หรือ เทสต์คิดส์ กรณีสินค้าที่น่าสงสัยให้เจ้าหน้าที่ส่งให้ห้องปฏิบัติการตรวจสอบอีกครั้ง
"วิธีดังกล่าวจะเริ่มปี 2553 โดยรับรองในลักษณะกลุ่ม เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยผลิตสินค้าได้มาตรฐาน และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมาตรฐานสินค้าเดียวกันทั้งในประเทศและส่งออก เพื่อให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศมากขึ้น"