บริการสุขภาพ

จี้รัฐเพิ่มงบบัตรทองหากขยายสิทธิ สปส.

"สปสช." เผย หาก สปส. ขยายสิทธิรักษาพยาบาลผู้ประกันตนครอบคลุมคู่สมรสและบุตร ต้องจัดงบรายหัวบัตรทองเพิ่มขึ้นจาก 2,432 บาท เหตุดึงคนแข็งแรงออกนอกระบบ เหลือแต่คนชรา ที่ป่วยบ่อย และต้องจ่ายค่ารักษาแพงสูงกว่าวัยอื่นถึง 3 เท่า คาดต้องโอนคู่สมรส และบุตรให้ สปส.ดูแลประมาณ 3 ล้านคน

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึง กรณีที่ทางสำนักงานหลักประกันสังคม (สปส.) เตรียมขยายสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนไปยังคู่ผู้สมรสและบุตร ว่า การขยายสิทธิดังกล่าวไม่น่าเป็นปัญหา และคงไม่ส่งผลกระทบต่อกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เพียงแต่อาจต้องมีการปรับจำนวนผู้มีสิทธิเท่านั้น

ซึ่งที่ผ่านมา การเปลี่ยนย้ายสิทธิก็มีการเคลื่อนย้ายปรับเปลี่ยนโดยตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้หากมีการขยายสิทธิจริง ก็จะเป็นการย้ายจำนวนผู้มีสิทธิครั้งใหญ่ อีกทั้งยังเป็นการดึงเอาผู้มีสิทธิที่เป็นกลุ่มเด็กและวัยทำงานที่มีอัตราการป่วยน้อยออกไป คงไว้แต่กลุ่มผู้สูงอายุซึ่งนอกจากมีอัตราการใช้บริการมากแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงกว่าวัยอื่นถึง 3 เท่า

นพ.วินัย กล่าวว่า แม้ว่าเมื่อ สปส. ขยายสิทธิการรักษาพยาบาลไปยังคู่สมรสและบุตร จะทำให้จำนวนผู้มีสิทธิในระบบบัตรทองลดลง แต่คงไม่สามารถปรับลดค่าใช้จ่ายรายหัวในระบบบัตรทองลงจากจำนวนงบประมาณปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ 2,432 บาทลงได้ แต่ในตรงข้ามควรมีการปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราค่ารักษาดังกล่าวเป็นการเฉลี่ยค่ารักษาระหว่างกลุ่มที่ป่วยบ่อยและไม่ป่วย ซึ่งหากกองทุน สปสช. เหลือเฉพาะผู้สูงอายุประมาณว่ามีจำนวน 9-10% หรือ 5 ล้านคนที่อยู่ในระบบปัจจุบัน ก็จะทำให้ค่าเฉลี่ยในการรักษาต่อหัวเพิ่มขึ้น จากการคำนวณค่ารักษาพยาบาลของผู้สูงอายุขณะนี้ อยู่ที่ 8,000 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่คนหนุ่มสาวและวัยทำงานอยู่ที่แค่ 700 บาทต่อคนต่อปี เพราะบางคนแทบไม่เคยใช้บริการรักษาพยาบาลเลย

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 18/8/52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน