เผยการเผาไหม้ของธูปจะปล่อยสารเคมีเพียบ รวมทั้งสารก่อมะเร็งหลายชนิด ซึ่งพบสัมพันธ์กับมะเร็งปอด ผิวหนัง และกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งของระบบเลือด
นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ นักวิจัย 1 ในคณะวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า ธูปเป็นเครื่องหอมที่ทำจากขี้เลื่อย กาว น้ำมันหอมสกัดจากพืช ไม้หอม ใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ เมล็ดพืช เรซิน และสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม พอกอยู่บนก้านไม้ ธูปมีหลายรูปหลายขนาดตั้งแต่เล็กถึงใหญ่มากๆ เผาไหม้หมดในเวลา 20 นาที ถึง 3 วัน 3 คืน
ทั้งนี้ ในประเทศไทย คนไทยจุดธูป 1 ดอก เพื่อเคารพบูชาบรรพบุรุษ หรือคนถึงแก่กรรมจุด 3 ดอก เพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ บางคนจุดทีเดียว 9 ดอก คาดว่ามีคนจุดธูปทั้งโลกปีหนึ่งๆ เป็นหมื่นถึงแสนตัน ทุกๆ 1 ตัน ของธูปจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 325.1 กิโลกรัม และก๊าซมีเทน 7.2 กิโลกรัม หากปีปีหนึ่งทั้งโลก มีคนจุดธูปเป็นหมื่นถึงแสนตัน จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทนออกมาเป็นจำนวนมหาศาล
นายแพทย์มนูญ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของการได้รับควันธูปที่มีสารก่อมะเร็งอย่างน้อย 3 ชนิด คือ เบนซีน 1,3-บิวทาไดอีน และ PAH ในคนงานที่ได้รับควันธูปจากการปฏิบัติงานภายในวัด 3 แห่ง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 40 คน เปรียบเทียบกับคนงานในหน่วยงานที่ไม่มีการจุดธูปจำนวน 25 คน
ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วยการตรวจวัดปริมาณสารก่อมะเร็งทั้ง 3 ชนิดในอากาศบริเวณที่ปฏิบัติงาน และปริมาณการได้รับสารก่อมะเร็งเหล่านี้ ในคนงานขณะปฏิบัติงาน ตลอดจนการวัดระดับของดัชนีชี้วัดของการได้รับสารก่อมะเร็ง และประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ โดยใช้ดัชนีชี้วัดของการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพในระยะเริ่มต้น
ได้แก่ การตรวจวัดระดับการทำลายสารพันธุกรรม DNA ในคนงาน การตรวจวัดความผิดปกติของสารพันธุกรรม DNA ได้แก่ การแตกหักของ DNA และระดับของ 8-hydroxydeoxyguanosine (8- OHdG) สามารถใช้ประเมินความเสี่ยงของสุขภาพ เนื่องจากความผิดปกติเหล่านี้ถ้าไม่ได้รับการซ่อมแซมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรหัสพันธุกรรม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง
ผลการตรวจวัดพบว่าระดับการแตกหักของ DNA และ 8-OHdG ในเม็ดเลือดขาวของคนงานที่ได้รับควันธูปสูงกว่าคนงานในหน่วยงานที่ไม่มีการจุดธูปประมาณ 2 เท่า นอกจากนี้ คนงานที่ได้รับควันธูปยังมีความสามารถในการซ่อมแซมความผิดปกติของสารพันธุกรรม DNA ลดลง ดังนั้น คนงานที่ได้รับควันธูปเป็นประจำจึงมีความเสี่ยงต่อการได้รับมลพิษ และการเกิดโรคต่างๆ อาทิเช่น โรคมะเร็ง
ทางด้านนายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากทุกคนช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดย 1.ใช้ธูปที่มีขนาดสั้นลง หรือเป็นแบบชนิดไฟฟ้า 2. หากจำเป็นต้องจุดธูป ควรตั้งกระถางธูปไว้ภายนอกอาคาร 3.จุดธูปแล้วรีบดับ 4.อาจสักการะได้โดยถือธูปไว้ได้แต่ไม่จุด 5. การไหว้พระออนไลน์ ซึ่งเราสามารถจุดธูปเทียนผ่านทางคอมพิวเตอร์ได้
ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 15/7/52