บริการสุขภาพ

บุหรี่คร่าชีวิตคนไทยไปแล้ว 1 ล้านคน

บุหรี่ก่อความสูญเสียต่อสังคมไทย และทั่วโลกมหาศาล ขณะนี้บุหรี่คร่าชีวิตคนทั่วโลกปีละ 5.4 ล้านคน หรือวันละ 14,794 คน ส่วนไทยตายแล้วรวม 1 ล้าน

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า บุหรี่คร่าชีวิตคนทั่วโลกปีละ 5.4 ล้านคน หรือวันละ 14,794 คน ส่วนในประเทศไทยนับตั้งแต่ พ.ศ.2529 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 23 ปี มีคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ไปแล้วประมาณ 1 ล้านคน และขณะนี้ยังมีคนไทยที่สูบบุหรี่อยู่อีก 9.5 ล้านคน หากคนเหล่านี้ไม่เลิกสูบบุหรี่ ประมาณหนึ่งในสามหรือ 3 ล้านคนจะป่วยและเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่

Dr.Maureen E Birmingham ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2552 นี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม ไว้ว่า Tobacco Health Warnings เพื่อต้องการกระตุ้นให้รัฐบาลของทุกประเทศพัฒนาให้คำเตือนบนซองบุหรี่มีประสิทธิภาพในการสื่อถึงพิษภัยและอันตรายที่แท้จริงจากการใช้ยาสูบ ทั้งต่อผู้ที่สูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง

อีกทั้งเพื่อรณรงค์ป้องกันวัยรุ่นจากการทดลองสูบบุหรี่ เพราะส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าการลองสูบบุหรี่จะนำไปสู่การเสพติดบุหรี่ การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทุกคนรู้ถึงพิษภัยและอำนาจการเสพติดของบุหรี่ที่แท้จริงโดยการพิมพ์คำเตือนเป็นรูปภาพ อย่างที่ประเทศไทยทำ

จึงมีความสำคัญมากในการที่จะทำให้ผู้ที่ติดบุหรี่อยู่แล้ว เกิดความรู้และแรงบันดาลใจที่จะเลิกสูบบุหรี่ให้ได้ โดยขณะนี้ทั่วโลกมีผู้สูบบุหรี่ 1,300 ล้านคน ในจำนวนนี้ 500 ล้านคนจะเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่

นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดคำขวัญเป็นภาษาไทยของการรณรงค์ปีนี้ว่า บุหรี่มีพิษ ร่วมคิดเตือนภัย ทั้งนี้ บุหรี่เป็นพฤติกรรมเสี่ยงการเกิดโรคอันดับ 3 ของคนไทยรองจากพฤติกรรมทางเพศ (เอดส์) และสุรา

แต่ละปีมีคนไทยที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละ 42,000 คน คิดเป็นชั่วโมงละ 4.7 คน หรือ วันละ 115 คน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2550 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ที่อายุมากกว่า 15 ปี เสพติดบุหรี่ถึง 9.5 ล้านคน เป็นชาย 9 ล้านคน คิดเป็น 36.5% เป็นหญิง 420,000 คน คิดเป็น 1.6% โดยเป็นเยาวชนไทยสูบบุหรี่ถึง 1,270,721 คน

ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันเตือนพิษภัยของบุหรี่และการได้รับควันบุหรี่มือสอง โดยขอให้คนในครอบครัว ญาติมิตรและเพื่อนฝูงช่วยกันเตือนสติผู้ที่สูบบุหรี่ให้เลิกสูบ และเด็ก ๆ ที่ยังไม่ติดบุหรี่ไม่ให้ริเริ่มสูบ

ทั้งนี้การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าโทรทัศน์เป็นแหล่งสำคัญที่สุดที่ให้ข้อมูลพิษภัยของบุหรี่คือ 82% ข้างซองบุหรี่ 36% สื่อสิ่งพิมพ์ 22% บุคลากรสาธารณสุข 21% เพื่อน/ญาติ 18% วิทยุ 15% คนในบ้าน 10% ครู 1.7% พระ 0.8% และสาเหตุที่สัดส่วนการได้รับความรู้จากข้างซองบุหรี่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากคนไทยที่สูบบุหรี่ครึ่งหนึ่งสูบบุหรี่มวนเอง ซึ่งไม่มีคำเตือน

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีการพิมพ์คำเตือนเป็นรูปภาพแล้ว แต่ขณะนี้บริษัทบุหรี่ได้ทำซองให้มีสีสันเพื่อลดทอนประสิทธิภาพของคำเตือน และบางบริษัททำผิดกฎหมายด้วยการยังคงมีคำว่า light, mild หรือรสอ่อน ปรากฏอยู่บนซอง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีกฎหมายห้าม

ขณะนี้ตนกำลังรวบรวมหลักฐานและเอกสารทั้งหมดเสนอต่อกระทรวง เพื่อให้มีการจัดการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ตามแนวทางปฏิบัติของกรอบอนุสัญญาเพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบมาตรา 11 ว่าด้วยการพิมพ์คำเตือนและฉลากบนซองบุหรี่ ได้กำหนดไว้ว่า ห้ามพิมพ์ข้อความหรือสัญลักษณ์ใด ๆ ที่ทำให้เข้าใจว่ายาสูบนั้นมีอันตรายน้อย หรือมีรสชาติพิเศษ ทั้งนี้เพราะยาสูบไม่ว่าอยู่ในรูปแบบใด หรือรสชาติใด ล้วนมีอันตรายต่อสุขภาพทั้งสิ้น

ส่วนกิจกรรมวันงดสูบบุหรี่โลกปีนี้ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายครูนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ แกนนำเยาวชน และอีกหลายหน่วยงาน ร่วมจัดกิจกรรม “Tobacco Health Warnings: บุหรี่มีพิษ ร่วมคิดเตือนภัย” ในวันเสาร์ที่ 30 - วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม 2552 ณ บริเวณลานเอนกประสงค์ ตลาดนัดสวนจตุจักร ทางเข้าประตู 1 ฝั่งถนนกำแพงเพชร (ด้านหน้ากองอำนวยการ)

กิจกรรมประกอบด้วย พาเหรดรณรงค์ของสมาคมผู้ไร้กล่องเสียงในประเทศไทย, นิทรรศการ “เตือน! ควันบุหรี่ฆ่าคุณ” ประดิษฐ์เข็มกลัด, การแสดงมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินค่ายต่าง ๆ อาทิ แบงค์ และเพื่อน ๆ วงแบล็ค วานิลลา จากบริษัท อาร์ เอส จำกัด (มหาชน), ดารา - นักแสดงจากช่อง 3, บริษัททีวีซีน, คณะมีสทีนไทยแลนด์ รวมถึงการเผยแพร่สื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ อาทิเช่น โปสเตอร์ สติกเกอร์เขตปลอดบุหรี่ แผ่นพับ คู่มือต่าง ๆ ซึ่งผู้สนใจสามารถขอรับได้ฟรี ณ ลานกิจกรรมดังกล่าว

พิมพ์ อีเมล