มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายประชาชน เข้าพบ รมช. กระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนเดินหน้าแบน 3 สารเคมีอันตราย พร้อมยื่น 4 ข้อเสนอต่อกระทรวงเกษตร
จากกรณีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้ประชุมและมีมติให้ยกเลิกการถอนทะเบียนสารเคมีกำกัดศัตรูพืช “ไกลโฟเชต” โดยเปลี่ยนเป็นจำกัดการใช้ รวมทั้งชะลอการถอนทะเบียนสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ไปอีก 6 เดือน จากเดิม (มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562) ที่จะยกเลิกการใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เลื่อนไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 นั้น
วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2562) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารเคมีการเกษตรอันตราย 3 ชนิด นายชนวน รัตนวราหะ อดีตรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยกลุ่มประชาชนสนับสนุนการแบนสารเคมีที่มีพิษต่อสุขภาพ เดินทางเข้าพบ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้กำลังใจ พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงเกษตรฯ
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ขอขอบคุณ รมช. กระทรวงเกษตรฯ ที่ยืนอยู่ข้างประชาชนในการไม่สนับสนุนสารเคมีอันตราย และขอประนามการตัดสินใจของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ไม่ยืนเคียงข้างสุขภาพผู้บริโภค เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม ประเด็นเรื่องสารเคมีไม่ใช่สิทธิของเกษตรกรในการใช้สารเคมีแค่ฝ่ายเดียว แต่เป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับความปลอดภัยและมีสิทธิในการเลือกซื้อสินค้าด้วย หรืออย่างน้อยที่สุดหากมีการเลื่อนยกเลิกการถอนทะเบียนสารเคมีดังกล่าว ก็ควรจะมีมาตรการควบคุมสินค้าต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบที่มา รวมถึงกระบวนการผลิตก่อถึงมือผู้บริโภค เช่น ผักผลไม้ต้องแสดงฉลากการใช้สารพิษ ว่าใช้มีการใช้สารใดบ้าง ผู้บริโภคจะได้ทราบและมีสิทธิเลือกสินค้าเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง
นางสาวสารีกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ ในการประชุมสภาฯ มีการพูดถึงเรื่องยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศไทย แต่เมื่อกลับมาดูโครงสร้างในกระทรวงเกษตรพบว่าไม่มีหน่วยงานใดเลยที่สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ มองว่าหากมีนโยบายอย่างเดียวแต่ไม่มีหน่วยสนันสนุนในทางปฎิบัติ การทำเกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยอาจจะเกิดขึ้นได้ยาก จึงอยากเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานระดับกรมเพื่อสนับสนุนเรื่องดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้
1. ผลักดันให้สินค้าเกษตรทั้งผักและผลไม้ มีการระบุ แหล่งที่มาของสินค้า(Food Origin) และกระบวนการผลิตว่า มีการใช้สารเคมีอันตรายหรือไม่อย่างไร เพื่อให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกและได้รับความปลอดภัยอันเป็นการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค รวมทั้งเกษตรกรที่ยังยืนยันถึงความจำเป็นในการใช้สารเคมีขอให้ระบุสินค้าเกษตรของตนว่า กระบวนการผลิตมีการใช้สารเคมีอันตรายเหล่านี้
2. ผ่าตัดโครงสร้างของกระทรวงเกษตรให้มีหน่วยงานระดับกรม เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ ตามรายงานและข้อเสนอของสภาผู้แทนราษฎรที่มีมติเอกฉันท์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในการยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดนี้ และเดินหน้าปรับเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนให้ได้ 100% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดภายในปีพ.ศ. 2573
3. สนับสนุนให้ลดภาษีเครื่องจักรกลทางการเกษตรและสนับสนุนให้เกษตรกร ยืมเครื่องจักรกลใช้งานแทนการใช้สารเคมี
4. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ปรับปรุงฉลากของผลิตภัณฑ์อาหาร ให้ระบุสารเคมีที่ใช้ในทางการเกษตรให้ครบถ้วน เช่นเดียวกับการใช้วัตถุเจือปนอาหารตามหลักเกณฑ์การแสดงฉลากอาหารของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา