คกก. วัตถุอันตราย มีมติ 16 ต่อ 5 เสียง ‘ไม่แบนพาราควอต’

IMG 0066

คกก. วัตถุอันตราย มีมติ 16 ต่อ 5 เสียง จำกัดการใช้พาราควอต และให้เลื่อนการพิจารณายกเลิกใช้พาราควอตไปอีก 2 ปี

          วันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2562) มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงกว่า 700 องค์กร ได้เดินทางไปที่กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเรียกร้องให้พิจารณายกเลิกการใช้พาราควอตอย่างเป็นธรรม โดยได้มีการชุมนุมและมอบดอกไม้เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดนี้ อีกทั้งได้ยื่นหนังสือต่อนายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มเครือข่ายฯ มีข้อเสนอไปยังคณะกรรมการฯ 2 ข้อ ดังนี้

            1. การประชุมในวันนี้ต้องตัดสินอย่างเปิดเผย โปร่งใส และให้สาธารณะสามารถตรวจสอบและรับรู้ได้ว่าใครตัดสินอย่างไร
            2. ขอให้บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจสารเคมี ลาออกจากการเป็นคณะกรรมการ แต่ยังสามารถให้ข้อมูลข้อเท็จจริงได้ เพื่อให้คำตัดสินเป็นไปโดยยุติธรรม

          ทั้งนี้ หลังจากยื่นหนังสือยังมีผู้ชุมนุมบางส่วนยังปักหลักรอฟังมติจากที่ประชุมคณะกรรมการฯ 

190214151628 9K0k

190214151803 l7lw

          อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ออกมาตอนเวลาประมาณ 17.40 น. ปรากฏว่า กรรมการส่วนใหญ่ลงมติให้กำจัดการใช้พาราควอตเท่านั้น โดยมติในที่ประชุม มีเพียง 5 เสียงที่สนับสนุนให้ยกเลิกการใช้พาราควอต ส่วนอีก 16 เสียงให้จำกัดการใช้ และงดออกเสียง 5 เสียง รวมทั้งให้เลื่อนการพิจารณาว่าจะแบนหรือไม่แบน ไปอีก 2 ปี

          ต่อมา เวลาประมาณ 17.50 น. เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษฯ ได้ออกแถลงการณ์ถึงผลการตัดสินดังกล่าว ระบุว่า รู้สึกผิดหวังและเศร้าสลดที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่แบนพาราควอต สารพิษร้ายแรงที่มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้ว ทั้งยังมีมติที่สวนทางกับข้อเสนอของ (1) กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง (2) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (3) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข (4) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (5) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (6) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (7) สภาเกษตรกรแห่งชาติ (8) สภาเภสัชกรรม (9) แพทยสภา (10) เครือข่ายประชาคมวิชาการ (11) เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (12) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นต้น ที่เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการยกเลิกสารพิษนี้ภายในปี 2562

IMG 0123

          และผิดหวังเป็นที่สุดต่อบทบาทของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้าราชการระดับสูงกลุ่มหนึ่งในกระทรวงดังกล่าว ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญที่ทำให้ตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯทั้ง 5 คนในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสนอให้มีการใช้พาราควอตต่อไป และให้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้งเมื่อพ้นระยะ 2 ปีไปแล้ว การกระทำดังกล่าวถือเป็นการเพิกเฉยต่อข้อมูลทางวิชาการอันหนักแน่นและเสียงเรียกร้องขององค์กรต่างๆ ปล่อยให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงซึ่งคุกคามต่อชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภค และเด็กทารกทุก 1 ใน 2 คนที่จะลืมตามมาดูโลก

 

          รัฐบาลคสช. ซึ่งมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ โดยมีกรรมการที่มาจากหน่วยงานของรัฐมากถึง 19 คน จากกรรมการวัตถุอันตรายทั้งหมด 29 คนต้องมีส่วนในความรับผิดชอบในการลงมติที่เอื้อต่อประโยชน์ของบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืชในครั้งนี้ และประชาชนควรจะเป็นผู้ตัดสินใจให้บทเรียนกับผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจทางนโยบายที่ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ต้องกระทำ รวมทั้งมีมาตรการที่เหมาะสมต่อหน่วยงานและผู้ที่ลงมติไม่แบนสารพิษร้ายแรงครั้ังนี้จำนวน 16 คนด้วย

1332

          ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้กล่าวขอบคุณ กรรมการวัตถุอันตรายเสียงข้างน้อย จำนวน 5 คน ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขและ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ที่ลงมติให้มีการคุ้มครองชีวิตของประชาชนและปกป้องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสารพิษโดยการเสนอให้มีการแบนสารพิษดังกล่าว

          อย่างไรก็ตาม เครือข่ายฯ ประกาศว่า จะเดินหน้าเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการยกเลิกพาราควอตและสารพิษร้ายแรงอื่นๆ ต่อไป โดยสนับสนุนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง รณรงค์ไม่สนับสนุนสินค้าและบริการจากผู้ผลิตและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนสารพิษร้ายแรง และร่วมกันรณรงค์ไม่ให้บุคคล กลุ่มบุคคล ที่เลือกข้างกลุ่มทุนสารพิษ ไม่ให้เข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศอีก

Tags: พาราควอต

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน