มพบ. ร่วมกับ 2 องค์กร เสนอ คกก.วัตถุอันตราย ลงมติ ‘ทบทวนใช้พาราควอต’ อย่างเปิดเผยและเป็นธรรม

IMG 9918

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี และองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) เสนอต่อ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติทบทวนการใช้ ‘พาราควอต’ อย่างเปิดเผยและเป็นธรรม

          จากการที่ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีการจัดประชุมพิจารณาคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเสนอให้มีการยกเลิกการใช้พาราควอตภายใน 1 ปี และมีมติในที่ประชุม 16/7 เสียงให้มีเห็นชอบให้มีการพิจารณาทบทวนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเคยลงมติอนุญาตให้มีการใช้พาราควอตต่อไปใหม่อีกครั้งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 นั้น

          เมื่อวาน (11 กุมภาพันธ์ 2562) วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เล่าถึงปัญหาเกี่ยวกับพาราควอตว่า ประเด็นปัญหาใหญ่ของสารเคมีชนิดนี้มีอย่างน้อย 3 เรื่องสำคัญ คือ 1. เป็นสารเคมีที่มี่ความเป็นพิษเฉียบพลันสูง 2. ก่อให้เกิดโรคพากินสัน และ 3. มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะกระทบต่อชีวิตมนุษย์ ทั้งยังมีผลต่อคนรุ่นต่อไปที่จะเกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ อีกด้วย

         IMG 9912

 

          วิฑูรย์อ้างอิงถึงการศึกษาของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ศึกษาหญิงที่มาคลอดบุตรและเด็กแรกเกิดจาก 3 โรงพยาบาลที่อยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี นครสวรรค์ และอำนาจเจริญ ซึ่งอยู่ใน 10 จังหวัดที่มีการใช้สารเคมีที่สุดเพื่อหาการตกค้างของสารพาราควอต สิ่งที่น่าสนใจคือมีการตรวจพบสารพาราควอตกค้างในขี้เทา (อุจาระที่ออกมาครั้งแรกหลังคลอด 1-2 วัน) ของเด็กแรกเกิดจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนในเรื่อง ‘สิทธิของการมีชีวิตและเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ’

          “ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ตื่นตัวในเรื่องความอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะพาราควอต เช่น ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตพาราควอตมากที่สุดในโลก ประกาศยกเลิกการใช้พาราควอตแบบน้ำเมื่อ 2 ปีก่อน และจะยกเลิกการใช้พาราควอตโดยสิ้นเชิงในแก 2 ปีข้างหน้า แม้แต่ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้พาราควอตมากที่สุดในโลกก็มีแผนที่จะยกเลิกการใช้พาราควอต” วิฑูรย์กล่าว

          ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวอีกว่า สำหรับการประชุมในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นั้น แตกต่างจากการประชุมครั้งก่อน (14 มกราคม 2562) เนื่องจากครั้งนี้เป็นการลงมติโดยมีการพิจารณาคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการ ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถเสนอต่อรัฐบาลให้มีการดำเนินการตามคำวินิจฉัย หรือส่งเรื่องให้คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตในภาครัฐได้ เพราะฉะนั้นการลงมติในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ จึงน่าจับตาว่าการลงมติจากหน่วยงานรของรัฐจะแป็นไปในทิศทางใด

IMG 9913

          ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) แสดงความเห็นว่า เรื่องพาราควอตเป็นเรื่องใหญ่ที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ แต่ประเทศไทยกลับปล่อยให้มีคนเจ็บและเสียชีวิตจากการใช่สารเคมีไปเรื่อยๆ โดยอ้างว่าเหตุผลไม่เพียงพอ หลักฐานสนับสนุนไม่เพียงพอที่จะยกเลิก อาจเพิ่มต้นทุน หรือสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้มองความปลอดภัยของชีวิตประชาชน

          “สิ่งที่ควรทำและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่คือ ประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีก่อน จนกว่าผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จะสามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าสารเคมีเหล่านี้ปลอดภัย ไม่เป็นพิษ และไม่ทำให้คนป่วยหรือเสียชีวิต และคาดหวังว่า คณะกรรมการทุกท่านจะรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับคนไทยจริงๆ” ดร.มานะกล่าว

         PTT 2

          สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า จากการแถลงในวันนี้มีข้อเสนอไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย 2 ข้อ คือ

1. การประชุมในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ต้องตัดสินอย่างเปิดเผย โปร่งใส และให้สาธารณะสามารถตรวจสอบและรับรู้ได้ว่าใครตัดสินอย่างไร

2. ขอให้บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจสารเคมี ลาออกจากการเป็นคณะกรรมการ แต่ยังสามารถให้ข้อมูลข้อเท็จจริงได้ เพื่อคำตัดสินเป็นไปโดยยุติธรรม

          ทั้งนี้ เลขาธิการ (มพบ.) กล่าวเชิญชวนทุกคนมีส่วนร่วมแสดงพลัง ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 12.00 น. รวมโพสต์ข้อความ “คนไทย ไม่เอาสารเคมีอันตราย” “คกก.วัตถุอันตราย ยกเลิกสารเคมีอันตรายทันที” “ต้องเพิกถอนสารเคมีอันตราย” หรือร่วมแสดงความเห็นต่างๆ เกี่ยวกับการยกเลกการใช้สารเคมีดังกล่าวในเฟซบุ๊ก พร้อมติดแฮชแท็ก #ไม่เอาพาราควอต_คลอไพริฟอส_และไกลโฟเซต เพื่อเป็นการส่งเสียงไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่าประชาชนไม่เอาสารเคมีอันตราย


Tags: พาราควอต, คลอไพริฟอส, ไกลโฟเซต

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน