มพบ. ยื่นเอกสาร ต่อ คกก.แก้ไขฯ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณายุติการใช้พาราควอต

060219 news pic paraquat paper edit

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ 2 องค์กร ยื่นเอกสาร ‘อันตรายจากพาราควอต’ ต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อประกอบการพิจารณายุติการใช้พาราควอต

          จากการที่กลุ่มผู้คัดค้านการยกเลิกสารพาราควอตได้เข้ายื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆ รวมถึงคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง

          วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2562) คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง มีการประชุมและนำเอกสารของกลุ่มผู้คัดค้านการยกเลิกสารพาราควอตเข้าสู่การพิจารณาด้วย ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เห็นว่าข้อมูลของกลุ่มผู้คัดค้านเป็นข้อมูลที่ไม่รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความเป็นพิษ ทั้งพิษเฉียบพลัน พิษเรื้อรัง การตกค้างในสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงวิธีการจัดการเพื่อทดแทนการใช้สารพาราควอตและความจำเป็นในการใช้ของคนบางกลุ่ม
          มพบ. จึงร่วมกับ สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.) และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ยื่นเอกสาร “ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาตร์และหลักฐานเชิงประจักษ์ของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
: พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต” ต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ และขอให้ใช้ข้อมูลชุดดังกล่าวประกอบการพิจารณาด้วย เนื่องจากเอกสารดังกล่าวเป็นข้อมูลที่เกิดจากเวทีเสวนา “ข้อเท็จจริงทางวิชาการมีการควบคุมสารเคมีอันตราย: พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส” ซึ่งมีความรอบด้าน และเหมาะสมต่อการพิจารณา
          สำหรับวิธีการจัดการเพื่อทดแทนการใช้สารพาราควอตและความจำเป็นในการใช้ของบางกลุ่มนั้น มพบ. ได้ร่วมกับ คอบช. สำรวจนโยบายของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำตาลต่อการใช้สารพาราควอตในเดือนพฤษภาคม 2561 ทั้งหมด 47 บริษัท พบว่ามี 7 กลุ่มบริษัท ซึ่งเป็ฯบริษัทขนาดใหญ่ครองตลาดจำนวนมาก ได้แก่บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด (ตราลูกโลก) โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (ตรากุญแจคู่) บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด บริษัท ประจวบอุตสาหกรรม จำกัด บริษัท น้ำตาลนครเพชร จำกัด และบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ซูการ์คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) มีนโยบายลดและเลิกใช้อย่างชัดเจน ส่วนบริษํทที่ยังไม่มีนโยบายลดการใช้สารพาราควอตบอกว่า หากในอนาคตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมติยกเลิกก็ยินดีที่จะปฏิบัติตาม

          จากผลสำรวจดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำตาลมีความพร้อม สามารถปรับตัวตามนโยบายของรัฐได้ จึงเป็นภารกิจของรัฐที่จะกำหนดนโยบายเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมรวมถึงผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตาม ดังนั้น มพบ. จึงอยากขอให้แก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงพิจารณาข้อมูลต่างๆ อย่างรอบคอบและรอบด้าน โดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนในประเทศเป็นหลัก ก่อนการลงมติใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง

รายละเอียดเพิ่มเติม

          วันที่ 5 เมษายน 2560 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกถอนทะเบียนและไม่ต่ออายุทะเบียนสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงให้มีการจำกัดการใช้ไกลโซเฟต แต่ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการวัตถุอันตราย กลับมีมติในที่ประชุมให้จำกัดการใช้สารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด โดยให้เหตุผลว่าข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพไม่เพียงพอ

          เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงกว่า 700 องค์กร เห็นว่ามีข้อมูลวิชาการที่ชัดเจนถึงอันตรายของสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ที่มีต่อผู้บริโภคและเกษตรกร จึงเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 5 มิถุนายน 2561 และในช่วงค่ำวันเดียวกันท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะจัดการปัญหานี้ให้ได้ภายในปี 2652 หรือเร็วกว่านั้น

          ภายหลังผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยให้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ความเห็นแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศปรับระดับการควบคุมและปรับปรุงบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายพาราควอต จากเดิมที่มีการจำกัดการใช้เป็นยกเลิกการใช้ โดยกำหนดเวลาการใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

          จากการดำเนินการของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ และผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ให้เห็นว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิดเป็นอันตรายต่อคนและต่อสิ่งแวดล้อม จึงควรยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงให้มีการจำกัดการใช้ไกลโซเฟต

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, พาราควอต, คลอไพริฟอส, ไกลโฟเซต

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน