ศาลพิพากษาลงโทษผู้ผลิต ‘เพิร์ลลี่’ จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายกว่า 10 ล้านบาท พร้อมสั่งระงับ เรียกคืน และทำลายสินค้า ด้านทนายชี้หน่วยงานควรดูแลอย่างเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
จากกรณีที่ มีผู้เสียหายเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เนื่องจากใช้โลชั่นทาผิวยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ แล้วเกิดอาการผิวหนังแตกลาย นำไปสู่ตรวจสอบและดำเนินการฟ้องร้องคดีกับบริษัทผู้ผลิต โดยยื่นฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม และศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น
ล่าสุด (27 ธันวาคม 2561) นางสาวศิรินธร อ๋องสมหวัง ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. ผู้ดูแลคดี พร้อมกับตัวแทนของผู้ได้รับความเสียหายจากการใช้โลชั่นทาผิวยี่ห้อเพิร์ลลี่ เดินทางไปศาลจังหวัดสตูลเพื่อฟังคำพิพากษา
นางสาวศิรินธร หลังจากการฟังคำพิพากษาว่า วันนี้ศาลได้ตัดสินให้จำเลย คือ ผู้ผลิตโลชั่นทาผิวยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ จ่ายค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายทั้งโจทก์และสมาชิกกลุ่ม แบ่งเป็น ค่าเสียหายจากการเสียโฉมติดตัว คนละ 200,000 บาท ค่ารักษาตามที่จ่ายจริง ค่ารักษาพยาบาลในอนาคตภายในระยะเวลา 5 ปี คนละไม่เกิน 200,000 บาท ค่าขาดรายได้ไม่เกิน 300 บาทต่อวัน เป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน และมีค่าเสียหายเชิงลงโทษสำหรับคดีนี้อีก 200,000 บาท เนื่องจากศาลเห็นว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ต้องรู้อยู่แล้วว่าผลิตสินค้ามีส่วนผสมของสารอันตราย แต่ยังผลิตและจำหน่าย จนส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย จิตใจ และอนามัยของผู้บริโภค จึงให้จ่ายค่าเสียหายเพิ่มเติมเป็นเชิงลงโทษจำเลย รวมเป็นเงินค่าเสียหาย ณ ปัจจุบันประมาณ 10 ล้านบาท และอาจเพิ่มขึ้นหากมีผู้เสียหายจากการใช้ครีมเพิร์ลลี่เข้าชื่อเป็นสมาชิกกลุ่มเพิ่ม
นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้จำเลยระงับการจำหน่ายสินค้าทั้งสองสูตร ได้แก่ ‘เพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์โลชั่น’ และ ‘เพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์โลชั่น พลัส’ ส่วนที่จำหน่ายไปแล้วให้ประกาศและรับคืนจากผู้บริโภค รวมทั้งให้เรียกเก็บสินค้าที่ยังไม่ได้จำหน่ายและให้ทำลายสินค้าทั้งหมด เพราะเป็นสินค้าที่มีส่วนผสมของสารอันตราย โดยจำเลยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
“เมื่อศาลมีคำพิพากษาออกมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ก็ควรออกมาทำหน้าที่ควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล และทำให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัย” นางสาวศิรินธรกล่าว
ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ครีมทาผิวขาวเพิร์ลลี่ สามารถยื่นหลักฐานให้พิจารณาเพื่อเข้าชื่อเป็นสมาชิกกลุ่ม ได้ที่ศาลจังหวัดสตูล โดยเตรียมเอกสารหลักฐานที่ทำให้พิสูจน์ได้ว่าได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจริง เช่น ผลิตภัณฑ์ ใบเสร็จซื้อสินค้า ใบรับรองแพทย์ ภาพถ่ายความเสียหายของร่างกาย สลิปเงินเดือน เป็นต้น แสดงต่อต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลจังหวัดสตูล โดยสามารถยื่นหลักฐานได้ตั้งแต่มีวันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไป
นางสาวเพชราภรณ์ คงกลั่น หนึ่งในผู้เสียหายจากการใช้ครีมทาผิวขาวเพิร์ลลี่ กล่าวถึงความรู้สึกหลังฟังคำพิพากษาว่า รู้สึกดีใจที่ชนะคดี แต่มองว่าน้อยเกินไป จึงยังไม่ค่อยพึงพอใจกับค่าเสียหายที่ได้ เพราะการเดินทางไปรักษาตัวแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก เนื่องจากโรงพยาบาลเฉพาะทางเกี่ยวกับผิวหนังอยู่ต่างจังหวัด ทั้งค่ารถ ค่ายา และอื่นๆ ตกครั้งละประมาณ 2-3 พันบาท นอกจากนี้รอยแตกที่เกิดขึ้นจากการใช้ครีมดังกล่าวนั้น แพทย์บอกว่าไม่สามารถรักษาให้หายได้ ทำได้แค่เพียงไปรักษาเรื่อยๆ เพื่อให้รอยจางลง ค่ารักษาพยาบาลในอนาคตที่ศาลกำหนดจึงอาจจะไม่ครอบคลุมรายจ่าย
ทั้งนี้ นางสาวเพชราภรณ์ได้ฝากเตือนไปยังผู้บริโภครายอื่นๆ ว่าควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า และต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของสินค้านั้นๆ อย่าซื้อเพียงเพราะคำโฆษณาหรือมีคนบอกมาว่าใช้แล้วได้ผล แต่ต้องคิดถึงความปลอดภัยของตัวเองด้วย
“เวลาซื้อของต้องคิดด้วยว่าใช้แล้วจะอันตรายไหม เครื่องสำอางบางอย่างโฆษณาว่าทำให้ขาวไว ขาวขึ้นได้จริง ก็ต้องชั่งใจว่าพื้นฐานเราเป็นคนผิวสี ถ้าไม่ใส่สารอันตรายแล้วเราจะขาวขึ้นได้อย่างไร ทางที่ดีควรซื้อเครื่องสำอางที่เชื่อถือได้ อย่ายอมเสี่ยงเพราะอยากสวยหรืออยากขาว การที่เราซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสารอันตรายเหล่านี้มาใช้ จะทำให้เกิดความเสียหายทั้งต่อร่างกายและจิตใจ ผู้เสียหายบางคนเขาคิดจะฆ่าตัวตาย เพราะรอยแตกที่เกิดขึ้นไม่มีทางรักษาหาย บางอย่างเสียไปแล้วมันเอากลับคืนมาไม่ได้” นางสาวเพชราภรณ์กล่าว
ข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพร้อมผู้เสียหายจากครีมผิวขาว ‘เพิร์ลลี่’ ฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 40 ล้านบาท
- 'เพิร์ลลี่' คดีผู้บริโภคคดีแรกในประเทศไทย ศาลรับฟ้องแบบกลุ่ม
- คืบหน้า! ศาลนัดไกล่เกลี่ย สืบพยานคดีเพิร์ลลี่
- คุ้มครองชั่วคราว! ศาลสั่งห้ามขายเพิร์ลลี่ตั้งแต่ 3 ต.ค. จนกว่าจะพิพากษา