เสนอร่างโมเดล ‘การทำงาน 7 ระบบ’ ควบคุมผลิตภัณฑ์สุขภาพและโฆษณา

 

magicskin

อดีตรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เสนอร่างโมเดล การทำงาน 7 ระบบ เพื่อควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณา หวังลดปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณา

          ถ้าใครมีโอกาสติดตามข่าวสารในช่วงที่ผ่านมา อาจสังเกตเห็นว่ามีเรื่องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพค่อนข้างมาก ทั้งกรณีการฟ้องร้องคดีครีมยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ อาหารเสริมลดน้ำหนักยี่ห้อ ‘Lyn’ รวมไปถึงคดีใหญ่มีผลกระทบและเป็นที่สนใจของประชาชนในวงกว้างอย่าง การกวาดล้างผลิตภัณฑ์ในเครือ ‘เมจิกสกิน’ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องลุกขึ้นมาหารือ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขและปรับปรุงระบบควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ

          การประชุมโต๊ะกลม เรื่อง “ความร่วมมือในการควบคุมกำกับ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการโฆษณาเพื่อความยั่งยืนในการคุ้มครองผู้บริโภค” จึงถูกจัดขึ้น เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ความร่วมมือของห้าองค์กร ได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.) และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)

          ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร อดีตรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เสนอร่างโมเดล ‘ระบบควบคุมกำกับ ผลิตภัณฑ์สุขภาพและโฆษณาที่พึงประสงค์ของสังคมไทย’ ซึ่งประกอบด้วยการทำงาน 7 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบการขึ้นทะเบียน การอนุญาต 2.ระบบเฝ้าระวัง ตรวจสอบ 3.ระบบแจ้งเตือน 4.ระบบจัดเก็บสินค้าไม่ปลอดภัยออกจากตลาด 5.ระบบการสั่งระงับการกระทำผิด พักใช้-เพิกถอนใบอนุญาต และดำเนินคดี 6.ระบบเยียวยาผู้เสียหาย และ 7.ระบบเสริมพลังประชาสังคม

 

7 systems 1

 

          สำหรับระบบขึ้นทะเบียน การอนุญาต ภก.วรวิทย์ กล่าวว่า เมื่อผู้ประกอบการมีการจดแจ้งผลิตภัณฑ์สุขภาพแล้ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องออก QR Code ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใส่ไว้บนฉลากและสื่อโฆษณา โดย QR Code จะเชื่อมไปยังหน้าเว็บไซต์ของ อย. ที่ระบุข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวรวมทั้งเลข อย. เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลและความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น

ระบบที่สอง การเฝ้าระวัง ตรวจสอบ แบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ใช้แล็บ (ห้องปฏิบัติการณ์) เช่น การวิเคราะห์ส่วนผสม และส่วนที่ไม่ใช้แล็บ ได้แก่ การกำหนดกรอบคำ หรือข้อความ ว่าคำใดถือว่าหลอกลวง เป็นเท็จ รวมทั้งกำหนดกติกาให้ชัดเจน เช่น ห้ามนำบุคลกรทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือทำให้เข้าใจว่าเป็นบุคลากรดังกล่าว มาแนะนำ รับรอง หรือเป็นผู้แสดงแบบ (ประกาศ อย. เรื่อง การโฆษณาอาหาร วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2547)

          “ระบบเฝ้าระวัง ถือเป็นหัวใจหลักของโมเดลนี้ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การแจ้งเตือนภัย ซึ่งสามารถป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคได้ สิ่งสำคัญคือประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในระบบนี้ได้ โดยการช่วยสอดส่องดูแล คอยเป็นหูเป็นตา เมื่อพบการกระทำที่ผิดจากกรอบหรือกติกาที่กำหนดไว้ ก็แจ้งข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ตรวจสอบต่อไป” ภก.วรวิทย์กล่าว

ระบบที่สาม แจ้งเตือนภัย เป็นขั้นตอนหลังจากได้รับข้อมูล หรือเรื่องร้องเรียน และมีการตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ เป็นอันตรายหรือโฆษณาเกินจริง อย. ก็จะมีประกาศแจ้งเตือนให้ผู้บริโภครับทราบ ขั้นตอนนี้ควรดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด จากนั้นก็นำไปสู่ ระบบที่สี่ เก็บสินค้าไม่ปลอดภัยออกจากตลาด และระบบที่ห้า การสั่งระงับการกระทำผิด พักใช้-เพิกถอนใบอนุญาต และดำเนินคดี ขณะที่ระบบที่ห้า ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การสั่งระงับโฆษณาทางโทรทัศน์ ต้องอาศัยความร่วมมือจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือกรณีเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน จะเป็นหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ดำเนินการอายัดทรัพย์สิน

ส่วนระบบเยียวยาผู้เสียหาย จะเป็นเรื่องของการฟ้องคดี เพื่อเรียกร้องการชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้บริโภค และระบบสุดท้ายคือ เสริมพลังประชาสังคม ซึ่งประกอบด้วย การสร้างความรู้ สร้างกลไกการทำงาน และสร้างภูมิคุ้มกันผู้บริโภค

 ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผู้แทนเลขาธิการ อย. กล่าวว่า เห็นด้วยกับโมเดลนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเสริมพลังประชาสังคม เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ หน่วยงานรัฐบอกข้อห้าม แต่ไม่บอกทางเลือก เช่น บอกว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิด A อันตราย ห้ามรับประทาน แต่ไม่บอกว่าวิธีที่การลดน้ำหนักถูกต้องคืออะไร หรือหากต้องการใช้อาหารเสริมควรปรึกษากับเภสัชกรอย่างไร

     “ในอดีตปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพจะเป็นเรื่องโฆษณาเกินจริงเสียส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันกลับมีปัญหาเรื่องการฉ้อโกง การทำธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่ มุ่งหาสมาชิกมากกว่าการขายสินค้า และอาจมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของปัญหาไปอีก เนื่องจากผู้ประกอบการที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ เขาก็จะมีช่องทางใหม่ๆ มาหลอกลวงผู้บริโภค ดังนั้น หากจะแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน อาจต้องเสริมความรู้ และความตระหนักในเรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพให้แก่ผู้บริโภค รวมทั้งปลูกฝังไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ เพื่อป้องกัน และลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น” ภก.ประพนธ์ กล่าว

       นายจิรวุสฐ์ สุขพึ่งได้ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักอัยการสูงสุด กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่จะสามารถลดปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่น หากพบการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ตรงตามที่ได้รับอนุญาต นอกจากจะลงโทษเรื่องการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ควรพิจารณาด้วยว่าถ้อยคำของโฆษณานั้นเข้าข่ายเกินจริงหรือไม่ เนื่องจากโทษของความผิดเรื่องการโฆษณาเกินจริงจะสูงกว่า ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการรู้สึกเกรงกลัวมากกว่า

       นายจิรวุสฐ์ กล่าวอีกว่า หน่วยงานต่างๆ ของรัฐควรที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ควรมีฐานข้อมูลออนไลน์ ที่ทุกหน่วยงานสามารถเข้าถึงได้เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างรวดเร็ว และไม่ต้องเสียเวลาในการส่งข้อมูลเอกสาร เช่น เมื่อ สสจ. ตรวจพบผลิตภัณฑ์ผิดกฏหมาย ก็สามารถส่งข้อมูลให้ อย. พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาต เพื่อที่ สสจ. จะสามารถเก็บผลิตภัณฑ์นั้นๆ ออกจากท้องตลาดได้อย่างรวดเร็ว

      จะเห็นได้ว่า การแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค นอกจากนี้ยังต้องอาศัยระบบการจัดการที่เป็นขั้นตอน มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้เพื่อความรวดเร็วและเท่าทันผู้ประกอบการที่คิดจะหาช่องทางเอาเปรียบผู้บริโภค รวมทั้งต้องมีการส่งเสริมความรู้และสร้างภูมิต้านทานการโฆษณาให้กับประชาชน ดังนั้นการนำ ‘โมเดลการทำงาน 7 ระบบ’ เข้ามาใช้ อาจเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยแก้ไขและลดปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพและโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Tags: เพิร์ลลี่, ผลิตภัณฑ์สุขภาพ, เมจิกสกิน, Lyn

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน