เรียกร้องยกเลิก ‘พาราควอต’ : จากสารเคมีอันตราย...สู่อาหารกลางวันโรงเรียน

Pesticideee

ผลสำรวจพบร้อยละ 64 ของอาหารกลางวันโรงเรียนมีสารเคมีตกค้าง ซึ่งอาจมีผลต่อการทำลายพัฒนาการทางสมองของเด็ก ด้าน Thai-PAN เตรียมชุมนุมเรียกร้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณาแบน 'พาราควอต' อีกครั้ง

            จากสกู๊ปข่าว “พบสารเคมีตกค้าง ‘อาหารกลางวัน’ สูงถึง 64% หวั่นส่งผลต่อไอคิวเด็กนักเรียน” ที่สืบค้นและรวบรวมข้อมูลโดย สมานฉันท์ พุทธจักร ผู้สื่อข่าวพิเศษ ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ระบุว่า การสำรวจตัวอย่างผักผลไม้จาก 34 โรงเรียนใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 21 แห่ง ปทุมธานี 2 แห่ง สกลนคร 6 แห่ง และพังงา 5 แห่งพบว่าจาก 335 ตัวอย่าง มีถึง 210 ตัวอย่างที่ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 64 นอกจากนี้ ใน 32 โรงเรียน ของทั้ง 4 จังหวัด ยังพบ 'สารฟอกขาว ผงกรอบ และฟอร์มาลีน' ตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์แปรรูป เมื่อตรวจเลือดของนักเรียนและครูเพื่อดูสารเคมีตกค้างในร่างกาย ปรากฎว่าร้อยละ 21 อยู่ในเกณฑ์เสี่ยง และร้อยละ 7 อยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัย

อีกทั้ง ในงานวิจัยหลายชิ้นยังชี้ให้เห็นว่า สารเคมีที่ตกค้างในอาหารหลายตัวนั้นสัมพันธ์กับพัฒนาการทางสมองของเด็ก เช่น สารเคมีที่ชื่อ 'คลอร์ไพริฟอส'* (Chlorpyrifos) ซึ่งมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียชี้ให้เห็นว่า สารดังกล่าวมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก นำไปสู่การมีระดับสติปัญญาที่ต่ำจากการที่สารเข้าไปสะสมในร่างกาย ส่งผลต่อโครงสร้างสมอง และจากการสำรวจของ ‘เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช’ (Thailand Pesticide Alert Network หรือ Thai-PAN) ในปี 2559 ชี้ว่าคลอร์ไพริฟอส เป็นสารที่พบตกค้างในผักและผลไม้มากที่สุดอันดับ 2 ในไทย ทำให้หลายคนมองว่าปัญหาสารเคมีตกค้างในอาหารนั้นมีความเกี่ยวโยงกับปัญหาสติปัญญาของเด็ก

นอกจากนี้ สมานฉันท์ ได้ไปสัมภาษณ์ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) และได้ข้อมูลว่า มีสารตัวอื่น ๆ อีกที่ส่งผลต่อสมองของเด็ก เช่น พาราควอต ซึ่งกำลังเป็นประเด็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะสารดังกล่าวสามารถเข้าไปสู่สมองและทำลายระบบประสาทได้ ทั้งยังตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม อาหาร และผักผลไม้ด้วย ซึ่งในต่างประเทศได้มีการตั้งข้อสงสัยที่เชื่อมโยงกันระหว่างสารเคมีในอาหารกับโรคที่เกี่ยวกับพัฒนาการในเด็ก เช่น การเกิดโรคออทิสติกในเด็ก อย่างไรก็ตาม กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) ระบุว่าการปกป้องเด็กจากสารเคมี โดยเฉพาะสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนทั่วโลกต้องร่วมกันทำอย่างเร่งด่วน เพื่อปกป้องสิทธิในการเติบโตของเด็กโดยเฉพาะในประเทศเกษตรกรรม

          ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ปัญหาเกี่ยวกับการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรมเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง และทั่วโลกให้ความสนใจ แต่จากการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เรื่องการพิจารณาว่าจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกการใช้สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต โดยมีมติว่า จะไม่ยกเลิกการใช้สารพาราควอต และคลอไพริฟอส แต่ให้จำกัดการใช้สารทั้ง 3 ชนิด

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) พบความไม่ชอบมาพากล และความไม่โปร่งใส ในกระบวนการพิจารณาการแบนสารพิษดังกล่าว จึงจะมีการชุมนุม ในวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องดำเนินการให้มีการพิจารณาการยกเลิกและจำกัดการใช้สารพิษดังกล่าวใหม่อีกครั้ง โดยต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และต้องเปิดเผยผลการศึกษาทั้งหมด 

         *คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) เป็นวัตถุมีพิษทางการเกษตร (pesticides) เป็นสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช ในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphate compound) รูปแบบส่วนใหญ่ของสารในกลุ่มนี้ เป็นสารอินทรีย์ที่มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ โคลีนเอสเทอเรสแบบถาวร เป็นพิษตกค้างของคลอร์ไพริฟอส

01010101

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม: พบสารเคมีตกค้าง ‘อาหารกลางวัน’ สูงถึง 64% หวั่นส่งผลต่อไอคิวเด็กนักเรียน

 

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, พาราควอต, คลอไพริฟอส, ไกลโฟเซต, ThaiPAN

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน