คสช.มีมติใช้ ม.44 แก้ปัญหาการขอจดสิทธิบัตร ภาคปชช.ค้าน หวั่นยาแพง

580901 medizineพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ที่ประชุมมีมติออกคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 แก้ไขปัญหาการขอจดสิทธิบัตรที่ค้างอยู่กว่า 12,000 ราย

โดยจะออกสิทธิบัตรให้กับคนที่ขอจดสิทธิบัตรตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ขอในต่างประเทศแล้วจะไม่ตรวจสอบรายละเอียดมากเพราะถือว่าผ่านการพิจารณามาแล้ว นอกจากสินค้าที่มาจดสิทธิบัตรตรงกับที่ขอไว้หรือไม่เท่านั้น

ส่วนเรื่องสิทธิบัตรยา หากจดสิทธิบัตรไปแล้ว อาจส่งผลให้ราคายาจะสูงขึ้น จึงจะมีมาตรการพิเศษดูแลเรื่องยาโดยเฉพาะ โดย คสช. จะออกมาตรา 44 ภายหลัง เพื่อดูแลไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากราคายาที่อาจเพิ่มขึ้น โดยจะทยอยออกสิทธิบัตรให้ครบทั้งหมดภายใน 3 เดือน

 

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 27 ก.พ.มีภาคประชาชนได้ออกมาให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวแล้ว รวมถึงเสนองานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิบัตรโดยนายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เข้าถึงการรักษา  มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การเร่งออกสิทธิบัตรฯ นั้นจะเกิดประโยชน์อย่างไร แล้วใครได้ประโยชน์ อย่างในกรณีการขอจดสิทธิบัตรยา กระบวนการพิจารณาการจดสิทธิบัตรที่ล่าช้าส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการทำงานล่าช้าของเจ้าหน้าที่สำนักสิทธิบัตรเท่านั้น แต่เกิดจากการใช้กลวิธีของบริษัทยาที่ขอจดฯ ด้วย โดย  พ.ร.บ. สิทธิบัตรกำหนดให้ผู้ยื่นขอสิทธิบัตรต้องยื่นแจ้งการตรวจสอบขั้นตอนการประดิษฐ์หลังจากวันที่ประกาศโฆษณาภายใน 5 ปี ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานเกินไป ซึ่งผู้ขอสิทธิบัตรส่วนใหญ่ถ่วงเวลามาขอยื่นตรวจสอบใน 10 วันสุดท้ายก่อนครบ 5 ปี

ในกรณีของคำขอสิทธิบัตรทางยา นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทยาส่วนใหญ่จะยื่นแจ้งการตรวจสอบฯ เมื่อใกล้หมดกำหนดแจ้งการตรวจสอบขั้นตอนการประดิษฐ์เพียงไม่นาน เพราะการคุ้มครองเริ่มขึ้นแล้วนับตั้งแต่วันที่ยื่นขอจดสิทธิบัตร แม้ว่าคำขอฯ ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา แต่บริษัทอื่นก็จะไม่กล้าผลิตยาออกมาแข่ง เพราะเสี่ยงต่อการถูกข่มขู่คุกคามโดยใช้กฎหมาย อาจแพ้คดีและต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนมากย้อนไปตั้งแต่วันที่ยื่นขอจดสิทธิบัตร ถ้าผลการพิจารณาออกมาว่า ให้สิทธิบัตรกับยานั้นในภายหลัง ดังนั้น หากรัฐบาลคสช.มีความจริงใจในการปฏิรูปเรื่องสิทธิบัตรจริง ควรเริ่มต้นจากการศึกษาหาข้อมูลให้ชัดเจนก่อน  ไม่ใช่เพียงดูแค่เร่งให้ออกสิทธิบัตรเร็วๆ มากๆ ได้เท่านั้น แต่ต้องสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในเรื่องยารักษาโรคที่จะผูกขาดอย่างไม่เป็นธรรมด้วย

ในส่วนของกรมทรัพย์สินฯ นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า จะต้องนำคู่มือตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรยามาใช้อย่างเคร่งครัด และต้องปรับคู่มือฯ ให้เป็นสากลตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และต้องแก้ไขกฎหมายให้สามารถนำมาตราการยืดหยุ่นต่างๆ เช่น การคัดค้านก่อนได้รับสิทธิบัตร การใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ ฯลฯ มาใช้ได้จริงและไม่มีอุปสรรรค รวมถึงการแก้ไขความล่าช้าในการพิจารณา เพราะไม่มีกำหนดระยะเวลาในการประกาศโฆษณาและให้ระยะเวลาการยื่นตรวจสอบขั้นตอนการประดิษฐ์ที่ไม่สมเหตุผล 

ทางด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)กล่าวว่า การพิจารณาให้หรือไม่ให้สิทธิบัตร โดยเฉพาะยา จะต้องมีความละเอียดรอบคอบและดูข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ประกอบ ไม่ใช่อาศัยคำกล่าวอ้างตามเอกสารของผู้ขอยื่นจดแต่เพียงอย่างเดียว และไม่ควรใช้มาตรา 44 มาแก้ปัญหาแบบไม่ถูกต้อง เพราะจะยิ่งสร้างปัญหาเพิ่ม

“จากงานวิจัย “คำขอรับสิทธิบัตรยาที่จัดเป็น evergreening patent ในประเทศไทยและการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น”  ของสถาบัยวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า มีการขอรับสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุด ที่จะทำให้ผู้ได้รับสิทธิบัตรได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่องเกิน 20 ปีหรืออาจชั่วชีวิตของยานั้น ซึ่งการขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวถือว่ าไม่มีความใหม่ ไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น โดยระหว่างปี 2543-2553 หรือช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีสิทธิบัตรไม่มีวันตายมากถึงร้อยละ 84 จากคำขอทั้งหมด 2,188 ฉบับ ถ้ามีการใช้มาตรา 44 เร่งอนุญาตคำขอสิทธิบัตร เป็นไปได้ว่า คำขอสิทธิบัตรในลักษณะดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการบริโภคยาและตลาดของประเทศ จากงานวิจัยซึ่งดูรายการยาจำนวน 59 รายการที่มียอดการใช้สูงสุด เมื่อนำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านยา พบว่าเป็นคำขอที่จะมีการผูกขาดตลาดตั้งแต่ปี 2539-2571 คิดเป็นมูลค่าสะสมประมาณ 8,477.7 ล้านบาท

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก MGR Online สำนักข่าวอิศรา

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน