เมื่อ 12 พ.ย. ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวในการแถลงข่าวฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการภาคีเครือข่ายตามแผนปฏิบัติการ จัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ว่า ระหว่างปี 2549-2552 พบการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพมีมูลค่าสูงถึง 1.7 หมื่นล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้พบการโฆษณาเกินจริงและหลอกลวงจำนวนมากในทีวีดาวเทียม
ผศ.ภญ.นิ ยดากล่าวว่า ส่วนพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ยังมีข้อจำกัดและไม่ทันต่อสถานการณ์ จึงต้องการผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ โดยพัฒนาใน 5 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ทันสมัย 2.เพิ่มบทลงโทษ 3.การส่งเสริมการควบคุม 4.มีบทลงโทษทางแพ่ง และ 5.มีการกำหนดราคา ซึ่งเมื่อเดือนม.ค. ได้เสนอร่างกฎหมายไปยังรัฐสภามีการรับหลักการและผ่านร่างกฎหมาย รอเพียงนายกรัฐมนตรีลงนามเท่านั้น
ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชชนบท กล่าวว่า อย.และกสทช.ได้ลงนามความร่วมมือในการเฝ้าระวังและควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์ สุขภาพที่เกินจริงแล้ว แต่เห็นว่าบทลงโทษยังไม่สมเหตุสมผล การปรับผู้กระทำผิดแค่หลักพัน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้จากการโฆษณา ซึ่งผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ยังเลี่ยงโดยการเปลี่ยนชื่อ หรือจ่ายค่าปรับเท่านั้น เช่น น้ำเอนไซม์ในทีวีจานดำ โฆษณาว่าบำบัดโรคมะเร็ง เบาหวาน ความดัน และโรคเรื้อรังอื่นๆ แต่ส่วนประกอบมีเพียงผงมะละกอ และผงผลไม้อื่นๆ ไม่มีส่วนประกอบใดที่จะช่วยบำบัดโรคได้ตามที่กล่าวอ้าง จากการติดตามพบว่ามีทั้งผู้เสียชีวิต อัมพฤกษ์ และอัมพาต หลังจากกินยาเหล่านี้ รัฐบาลต้องมีกฎหมายที่เข้มงวด
ขณะที่ นายพนะชัย พงษ์พัมรัตน์ กล่าวว่า ญาติมีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวาน รักษากับโรงพยาบาลก็ไม่มีปัญหาอะไร จนได้ดูโฆษณาเอนไซม์จากทีวีจานดำ บอกว่ารักษามะเร็ง เบาหวาน ความดัน และโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้ ดูทุกวันจนหลงเชื่อและโทรศัพท์ไปสั่งซื้อ ราคากล่องละ 2,500 บาท มี 50 ซอง จึงเลิกกินยาของโรงพยาบาล กินแต่น้ำเอนไซม์ หลังจากนั้นเพียง 2 เดือนก็ทรุดหนักเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิต
วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 22 ฉบับที่ 8019 ข่าวสดรายวัน |