นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากข้อมูลการใช้ยาพาราเซตามอลของคนไทยพบว่า ส่วนใหญ่มักใช้ยาพาราเซตามอลเกินกว่าปริมาณที่กำหนด
เนื่องจากเห็นว่าเป็นยาพื้นฐาน มีความปลอดภัย และเข้าใจว่าสามารถรักษาได้ทุกอาการปวด แต่ในความเป็นจริง ยาพาราเซตามอล มีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ เท่านั้น และไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน ๆ เพราะอาจนำไปสู่การเกิดพิษต่อตับ จนนำไปสู่ภาวะตับวาย และเสียชีวิตในที่สุด
โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคในการใช้ยาพาราเซตามอล จึงได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาที่ต้องแจ้งคำเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและเอกสารกำกับยา กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยาที่มีส่วนประกอบของพาราเซตามอล ทั้งที่เป็นยาสามัญ และยาสามัญประจำบ้าน ต้องมี ข้อความคำเตือนบนฉลาก ได้แก่
1) ถ้าใช้ยานี้เกินขนาดที่ระบุไว้บนฉลากหรือเอกสารกำกับยา จะทำให้เป็นพิษต่อตับได้ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 5 วัน, และ 2)ผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไต ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา รวมทั้งอย.มีมาตรการกำหนดให้ฉลากยาระบุวิธีใช้ยาอย่างเคร่งครัด คือ รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ดไม่เกินวันละ 4 ครั้ง และต้องมีขนาดบรรจุเป็นแผงละ 4 และ 10 เม็ดเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคใช้ยาเกินขนาดที่ระบุไว้ข้างต้น
อย่างไรก็ตาม จากการที่องค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (USFDA) ออกประกาศให้บริษัทยาที่ผลิตยาแก้ปวดสูตรที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอลเป็น ส่วนประกอบ ในกลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้ระงับความเจ็บปวดที่รุนแรงถึงรุนแรงมากที่สุด ซึ่งเป็นยาที่ใช้กับคนไข้ในโรงพยาบาลหรือคลินิก ปรับลดปริมาณยาพาราเซตามอลลงจากเดิม จากขนาดยา 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด เป็น 325 มิลลิกรัมต่อเม็ด รวมทั้งกำหนดให้ระบุข้อความบนฉลากยาถึงผลข้างเคียงว่า “ยามีผลทำให้เกิดพิษต่อตับอย่างรุนแรงได้” นั้น เป็นการลดความเสี่ยงของผู้บริโภคในการที่จะได้รับปริมาณยาพาราเซตามอลเกิน ขนาด และลดความเสี่ยงที่จะเกิดพิษต่อตับลง
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ขอให้ผู้บริโภคใช้ยาอย่างระมัดระวัง ควรอ่านฉลากและเอกสารกำกับยาอย่างถ้วนถี่ และปฏิบัติตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ไม่ควรรับประทานยาเกินกว่าปริมาณที่ระบุไว้โดยเฉพาะยาพาราเซตามอลไม่ควรรับ ประทานเกินวันละ 8 เม็ด (เม็ดละ 500 มิลลิกรัม) และหากมีความผิดปกติหรือมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยา อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร บวมบริเวณท้อง กดเจ็บบริเวณตับ ขอให้พบแพทย์โดยด่วน
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา