(กรุงเทพฯ/ 12 พ.ย.55) ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างแถลงข่าวร่วมว่าด้วยการประกาศการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และการรื้อฟื้นการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐ (TIFA JC) โดยนายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะมีถ้อยแถลงข่าวร่วม (Joint Press Statement) ในวันอาทิตย์นี้นั้น
นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า ทางนักวิชาการและภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศมาโดยตลอด ค่อนข้างห่วงใยกับการที่นายกัฐมนตรีจะไปแถลงข่าวร่วมเพื่อเข้าเจรจา TPP เช่นนี้ เพราะจากการศึกษาเบื้องต้นของบริษัทไบรอัน เครฟ ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เคยจัดจ้างทำ ยังระบุว่า กkรเข้าร่วม TPP มีผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงยาและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
“แม้แต่งานศึกษาที่กรมเจรจาฯจัดจ้างบริษัทเอกชนทำ ยังชี้ว่า ในการเจรจา TPP ที่ 8 ประเทศกำลังเจรจาฯกันอยู่ สหรัฐฯมีข้อเรียกร้องสูงมาก ทั้งการบังคับให้จดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ การขยายอายุสิทธิบัตร จาก 20 ปีออกไปอีกไม่เกิน 5 ปีเพื่อชดเชยความล่าช้าของกระบวนการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตร และให้ขยายอายุสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการผลิตหรือการใช้ยาแบบใหม่เพียงเล็กน้อย การผูกขาดข้อมูลยา 5 ปี สำหรับยาใหม่ และ 3 ปี สำหรับยาที่ได้รับสิทธิบัตรมาแล้ว ในเรื่องนี้ท่าทีสมาชิก TPP อื่นๆยังมองว่า จะทำให้ผูกขาดยาต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงยาได้ จำกัดการบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) ไม่อนุญาตให้หน่วยงานจัดซื้อยาของรัฐต่อรองราคายา และบังคับเปิดตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ยิ่งไปกว่านั้น ด้านการค้าบริการและการลงทุน สหรัฐฯเรียกร้องให้ใช้แนวทาง Nagative List (อะไรที่เปิดเสรีไม่ได้ให้แจ้ง อะไรที่ไม่แจ้งต้องเปิดเสรีทั้งหมด) เปิดให้ชาวต่างชาติถือหุ้นได้ 100% การโอนเงินทำได้โดยเสรีและไม่มีอุปสรรค ต้องการให้มีบทบัญญัติเรื่องอนุญาโตตุลาการที่จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องยกเลิกนโยบายสาธารณะหรือเรียกค่าชดเชยจากรัฐในนโยบายต่างๆได้ ซึ่ง ขณะนี้ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน ยังไม่ยอมรับ ส่วนออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ประกาศไม่ต้องการให้มีบทบัญญัติเรื่องอนุญาโตตุลาการ”
ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ ระบุเพิ่มว่า สิ่งที่กรมเจรจาฯไม่เคยชี้แจงต่อสาธารณะอย่างครบถ้วนและไม่ทราบว่าคณะรัฐมนตรีมีความเข้าใจประเด็นนี้มากน้อยเพียงใด คือ การที่ประเทศใดเข้าไปเจรจาทีหลังจะถูกบังคับให้ยอมรับความตกลงที่มากกว่า ประเทศสมาชิกเดิม 8 ประเทศ ซึ่งขณะนี้ ญี่ปุ่นกำลังเผชิญภาวะความกระอักกระอ่วนนี้อยู่ นอกจากนี้ยังถูกตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศว่า สหรัฐฯพยายามผลักดันอย่างมาก เพราะต้องการขยายอิทธิพลด้านการค้าและการเมืองผ่าน TPP และชิงความได้เปรียบเหนือจีน มากกว่าที่จะเป็นเรื่องวัตถุประสงค์ทางการค้าเท่านั้น และในช่วงดีเบตเพื่อเลือกประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบาม่า ก็ยอมรับว่า จะใช้ TPP เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อกดดันจีนให้โออ่อนตามสหรัฐฯ (creating trade bloc with other Asian countries to put pressure on China to play by our rules) ประเทศไทยอาจจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในประเด็นนี้
“แม้ถ้อยแถลงร่วมจะมีผลผูกพันต่อประเทศตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม แต่การไม่จัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในเรื่องสำคัญดังกล่าว และการไม่คำนึงถึงข้อห่วงใยในผลกระทบต่างๆ ย่อมเป็นการไม่ให้เกียรติประชาชนไทยและประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงอยากให้รัฐบาลทบทวน และดำเนินการเรื่องนี้อย่างเปิดเผยโปร่งใส จัดรับฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนไม่ใช่แค่ฟังนักธุรกิจเท่านั้น พร้อมทั้งอธิบายจุดยืนและท่าทีของรัฐบาลอย่างชัดเจน”