ควบคุมราคายาเรื่องดี แต่ต้องไม่แอบแฝงการผูกขาด เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ขอนายกฯออกนโยบายเห็นแก่ประโยชน์ประชาชน อย่ามัวแต่เอาใจทุน
วันที่ 12 มีนาคม 55 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีหารือร่วมกับบริษัทยาข้ามชาติและนักธุรกิจอเมริกันที่ เข้ามาลงทุนในประเทศ ทั้งเรื่องการคุ้มครองสิทธิบัตรและระบบการกำหนด-ควบคุมราคายา โดยนายกรัฐมนตรีรับปากให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับบริษัทยาข้ามชาติ มาติดตามการผลิตเวชภัณฑ์ไทยและให้กำหนดราคาอย่างเหมาะสม โดยอ้างว่า เพื่อ "ความโปร่งใส"
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ได้ให้ความเห็นว่า “ หากพิจารณาจากพฤติกรรมของบริษัทยาข้ามชาติที่ผ่านมา วัตถุประสงค์หลักของการเสนอแนวทางดังกล่าว เป็นการพยายามที่จะห้ามไม่ให้มีต่อรองราคายา ซึ่งที่ผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีโอกาสที่จะต่อรองราคาทำให้สามารถลดงบประมาณในการจัดซื้อยาได้จำนวนมาก แต่หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์รับปากบริษัทยาตามที่ขอ จะส่งผลให้กลไกต่อรองราคาเป็นอัมพาต กลายเป็นว่าบริษัทแจ้งมาเท่าไหร่นั่นคือเหมาะสม และอาจส่งผลต่อการประกาศใช้ซีแอล หรือลามไปถึงการออกระเบียบ กฎ หรือแก้ไขอะไร ต้องได้รับอนุญาตจากบริษัทยาก่อน”
ทั้ง นี้จากการแถลงต่อสาธารณชนไม่ได้มีการให้รายละเอียดต่อกรณีดังกล่าวว่า รัฐบาลจะมีการดำเนินการ หรือมีวิธีการอย่างไรต่อการรับปากกับกลุ่มทุนธุรกิจดังกล่าว ซึ่งในส่วนภาคประชาสังคมที่ได้มีการติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ได้มีข้อสังเกตต่อกรณีดังกล่าวว่า “การควบคุมราคายาเป็นแนวคิดที่ดี ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการแก้ไขพรบ.สิทธิบัตรปี 2542 ได้มีการยกเลิกคณะกรรมการสิทธิบัตรยาซึ่งทำหน้าที่ควบคุมราคายา โดยเป็นผลมาจากการกดดันของสหรัฐฯ โดยใช้มาตรการพิเศษ 301 ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งจะมีส่วนให้มีการตัดสิทธิ พิเศษสินค้าส่งออกของไทย ส่งผลให้ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีกลไกใดๆในการควบคุมราคายา จนเกิดการผูกขาดราคาโดยบริษัทยาอย่างอิสระ” นายนิมิตร์ เทียมอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าว
ทาง ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ยังกล่าวว่า ผลพวงต่อเนื่องของการไม่มีระบบควบคุมราคายาก็ส่งผลให้ประชาชนไทยไม่สามารถ เข้าถึงยาที่จำเป็นซึ่งมีราคาแพงได้
“การที่บริษัทยาหรือตัวแทนนักธุรกิจด้านอุตสาหกรรมยาได้มีข้อเสนอให้ทางนายกรัฐมนตรี ให้มีแนวทางในการกำหนดราคายานั้น ต้องมีแนวทางระดมสมองต่อข้อเสนอดังกล่าวอย่างรอบด้าน และต้องมีกระบวนการรับฟังและสร้างการมีส่วนร่วมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งด้านผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน บริษัทยาไม่มีสิทธิเข้ามาร่วมการตัดสินใจในทุกเรื่อง เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน”
ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวานนี้ ที่ประเทศอินเดียเพิ่งประกาศบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) ให้บริษัทยาชื่อสามัญของเขาผลิตยารักษามะเร็งตับที่ติดสิทธิบัตรของบริษัทไบเออร์ เยอรมันนีได้ ซึ่งจะทำให้ราคาลดลงมากกว่าสามสิบเท่า และเพิ่มการเข้าถึงยาให้กับผู้ป่วยมะเร็งอย่างมาก อยากขอให้รัฐบาลไทยพิจารณานโยบายต่างๆโดยเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มทุน”
ทั้งนี้ภาคประชาชน โดยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เครือข่ายผู้บริโภค และนักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และต้องไม่รีบตัดสินใจ จนกว่าจะมีการศึกษาหรือรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน และต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยเครือข่ายภาคประชาชนจะเฝ้าจับตามองและติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด