นักวิชาการจี้เลิกใช้พริตตี้ขายยา พาหมอ-เภสัชทัวร์นอก ชี้ส่งเสริมการขายขัดจริยธรรม

นักวิชาการจี้เลิกใช้พริตตี้ขายยา-ออกตังค์พาหมอ-เภสัชฯ ดูงานต่างประเทศแท้จริงไปเที่ยวเป็นหลัก ชี้เป็นการส่งเสริมการขายที่ไม่มีจริยธรรม กระทบจัดหายาและสั่งจ่ายยาของประเทศเข้าขั้นวิกฤต ทำให้ยาแพง-ใช้ยาไม่เหมาะสม เล็งหนุนออกกฎควบคุมการส่งเสริมการขายยาให้บริษัทยาแจกแจงบัญชีการส่งเสริมการขาย

วันที่ 29 เมษายน ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมวิเคราะห์ “แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และบริษัทยา” ว่า ในการประชุมวันนี้ได้เชิญนักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ภาคการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบเบิกจ่าย นักกฎหมาย และภาคประชาสังคมมาหารือเรื่องการสั่งจ่ายยา ที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ปัจจุบัน มีปัญหาของการส่งเสริมการขายอย่างไม่มีจริยธรรมและมีผลกระทบต่อการสั่งจ่ายและจัดหายาอย่างมาก ซึ่งขณะนี้เข้าขั้นวิกฤตแล้วเนื่องจากทำให้ยาราคาแพงเกินจำเป็นและมีการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม

“ในที่ประชุมพูดกันมากถึงการที่ปัจจุบันบริษัทยาใช้พริตตี้ที่แต่งตัวล่อแหลมในการไปติดต่อกับแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ บริษัทยาเลี้ยงดูปูเสื่อทั้งแพทย์ ทั้งเภสัชกร มีการเชิญไปต่างประเทศ โดยอ้างว่าดูงานและประชุม แต่จริงๆ ไปเที่ยวเป็นหลัก ที่หนักไปกว่านั้นคือ มีการให้ค่าตอบแทนตามยอดสั่งใช้ยา และให้ค่ารายหัวกรณีที่สั่งจ่ายยาเรื้อรังแก่ผู้ป่วยรายใหม่ หรือแม้บางรายจะมีจรรยาบรรณหรือจริยธรรมวิชาชีพแต่หลักเกณฑ์การดำเนินการของสมาคมบริษัทยาทำให้ระบบการเฝ้าระวังยังอ่อนแอ บางบริษัทก็ไม่เข้าอยู่ในเกณฑ์ใดๆ เลย สถานการณ์จึงมีแนวโน้มน่าวิตกอย่างยิ่ง” ผศ.ดร.นิยดากล่าว

ผศ.ดร.นิยดา กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าจะพัฒนาข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ในคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การออกกฏหมายว่าด้วยการควบคุมการส่งเสริมการขายยาเพื่อให้บริษัทยาต้องแจกแจงบัญชีงบประมาณที่ใช้ในการส่งเสริมการขาย เช่น ใช้เงินเท่าไรในการพาบุคลากรทางการแพทย์คนใดไปประเทศใด ซึ่งถือปฏิบัติกันแล้วในหลายประเทศ

“อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้จะ แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จะร่วมกับ คณะอนุกรรมการฯ โรงพยาบาล และและสถาบันการศึกษา ในการนำเกณฑ์เหล่านี้นำร่องใช้เพื่อควบคุมการเบิกจ่ายยาในสถานพยาบาล, สนับสนุนให้สถานพยาบาลมีฟรีโซนห้ามการส่งเสริมการขายยา ไม่ให้พริตตี้ขายยาเข้าพบแพทย์ และผลักดันให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และบริษัทยาที่โปร่งใสเป็นหนึ่งในข้อกำหนดของการประกันคุณภาพโรงพยาบาล” ผศ.ดร.นิยดากล่าว


ข้อมูลจาก นสพ.ผู้จัดการ 29/04/52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน