สธ.ดึงผู้ผลิตขนมร่วมโครงการอาหารลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม หวังปกป้องเด็กไทยไม่อ้วนกลายเป็นคนขี้โรค พบขนมที่มีน้ำตาลสูงสุดคือ บิสกิตสอดไส้ มันฝรั่งทอดกรอบมีไขมันสูงสุด ส่วนปลาเส้นมีโซเดียมสูงสุด เผยเด็กใช้เงินซื้อขนมกรุบกรอบปีละเกือบหมื่นบาท
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 เมษายนนี้ ถึงการจัดทำโครงการตรวจสัญลักษณ์รับรองอาหารลดน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม 25% ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันกับบริษัทผู้ผลิตขนมกรุบกรอบ 6 บริษัท คือ 1.บริษัท วาไรตี้ ฟูดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 2.บริษัท โรงงานแม่รวย จำกัด (โก๋แก่) 3.บริษัท เวิร์ลฟูลด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 4.บริษัท อุตสาหกรรม ส.ขอนแก่น จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) และ 6.บริษัท อัลฟ่า เจ จำกัด ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม ร้อยละ 25
รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า ได้มีการกำหนดตราสัญลักษณ์อาหารลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม 4 แบบ ตามชนิดของการลด คือ 1.อาหารลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม 2.อาหารลดน้ำตาล ไขมัน 3.อาหารลดน้ำตาล โซเดียม และ 4.อาหารลดไขมัน โซเดียม โดยต้องมีข้อความ "บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ" ติดที่บรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้และมีทางเลือกในการซื้อขนมเพื่อสุขภาพ พร้อมทั้งกระตุ้นให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ผลิตและจำหน่ายอาหารที่ดีต่อสุขภาพของประชาชนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เป็นการปรับพฤติกรรมการบริโภคให้มีการบริโภคอาหารที่รสไม่หวานจัด เค็มจัด อีกด้วย|
"มีผู้แทนจำหน่ายที่ให้ความร่วมมือเป็นตัวแทนในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์รับรองอาหารลดน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม 25% อาทิ บริษัท ซีพีออลล์ บริษัท สยามแมคโคร (มหาชน) บริษัท เทสโก้โลตัส ซึ่งคาดว่าในเดือนพฤษภาคม 2552 จะเริ่มเข้าสู่ตลาดและมีการจำหน่าย สำหรับผู้ประกอบการรายอื่นที่สนใจ สามารถยื่นใบสมัครร่วมโครงการได้" นายวิทยากล่าว
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีเด็กอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะพบเด็กอ้วน 1 ใน 4 คน ขณะที่ 30-80% เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังคงมีสภาวะอ้วน และป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
จากการสำรวจการบริโภคขนมกรุบกรอบของเด็กและเยาวชนในปี 2549 พบเด็กไทยมีการใช้เงินซื้อขนบกรุบกรอบเฉลี่ยวันละ 26 บาทต่อวัน หรือคิดเป็น 40% ของค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน และหากคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อปี พบมีการใช้เงินสูงถึง 9,800 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาตกปีละ 3,024 บาทต่อคนเท่านั้น ขณะที่ขนมส่วนใหญ่ที่เด็กซื้อมาบริโภค 90% จะประกอบด้วยแป้ง น้ำตาล โซเดียม ทำให้เด็กได้รับแป้งและน้ำตาลจากขนมมากเกินไป
ดร.ชนินทร์ เจริญพงศ์ นักวิชาการสำนักงานคณะกรรมการอาการและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ตรวจสอบพบว่ากลุ่มขนมที่มีปริมาณน้ำตาลสูงสุด ได้แก่ ขนมบิสกิตสอดไส้ในปริมาณ 30 กรัม พบน้ำตาลเฉลี่ย 10.4 กรัม ไขมัน 6.3 กรัม โซเดียม 138 กรัม หากลดปริมาณลงร้อยละ 25 จะเหลือน้ำตาล 7.8 กรัม ไขมัน 4.8 กรัม โซเดียม 103.5 กรัม ส่วนกลุ่มขนมที่มีไขมันสูงสุด ได้แก่ มันฝรั่งทอดกรอบ 30 กรัม พบน้ำตาล 0.3 กรัม ไขมัน 9.7 กรัม โซเดียม 116.3 กรัม หากลดปริมาณลงร้อยละ 25 จะเหลือน้ำตาล 0 กรัม ไขมัน 7.3 กรัม โซเดียม 87.3 กรัม ส่วนขนมที่มีโซเดียมสูงสุด ได้แก่ ปลาเส้นปริมาณ 30 กรัม พบน้ำตาลเฉลี่ย 7.5 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม โซเดียม 717 กรัม หากลดปริมาณลงร้อยละ 25 จะเหลือน้ำตาล 5.6 กรัม ไขมัน 0.4 กรัม โซเดียม 537.8 กรัม
นายสมนึก งามนิธิพร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วาไรตี้ ฟูดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ในการผลิตขนมที่ต้องมีการลดน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณนม แป้งหรือถั่วแดงแทน ซึ่งในทางธุรกิจไม่สามารถคาดหวังถึงผลกำไรได้ เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น ราคาคงปรับสูงกว่าราคาขนมปกติไม่เกิน 10% แต่คิดว่าเป็นการทำบุญให้แก่เด็กไทยได้บริโภคขนมที่มีประโยชน์.
{mxc}
ข้อมูลจาก นสพ.ไทยโพสต์ 23/4/52