อย.ใช้ กม.เล่นงานพวกโฆษณาเกินจริงแล้ว 162 รายช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค.

556000011943401อย.เผยดำเนินคดีโฆษณาผิดกฎหมายช่วง มิ.ย. – ก.ค.แล้วกว่า 162 ราย ระบุอาหารเสริมยังโฆษณารักษาโรคได้สารพัด ลั่นพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หวังคุ้มครองผู้บริโภค

 

 
ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า อย.ได้ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง หากพบการโฆษณาที่ไม่ได้ขออนุญาตหรือมีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหลอกลวงผู้ บริโภคให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ จะมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด ทั้งการเปรียบเทียบปรับ ดำเนินคดี และแจ้งให้เจ้าของผลิตภัณฑ์และสื่อโฆษณาระงับการโฆษณาทันที พร้อมทั้งส่งข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยบูรณาการการทำงานร่วมกัน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) สำหรับในส่วนภูมิภาคมอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการ


ภญ.ศรีนวล กล่าวอีกว่าในช่วง มิ.ย. – ก.ค. 2556 อย. ได้ดำเนินคดีเกี่ยวกับการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ผลิตภัณฑ์อาหาร จำนวน 142 ราย ผลิตภัณฑ์ยา จำนวน 11 ราย และผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ จำนวน 8 ราย และเครื่องสำอาง 1 ราย รวมจำนวนทั้งสิ้น 162 ราย ส่วนมากพบการโฆษณาทางนิตยสาร โทรทัศน์ดาวเทียม และเว็บไซต์ โดยพบโฆษณาในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และไม่ได้ขออนุญาตโฆษณา เช่น โฆษณาน้ำว่านหางจระเข้ มีเนื้อหาที่ทำให้เข้าใจว่าสามารถรักษาป้องกันโรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างช่วยลดอาการวัยทองในผู้หญิง ช่องคลอดแห้ง ช่วยปรับสมดุลร่างกาย ป้องกันบำบัดฟื้นฟูโรคต่าง ๆ ทั้งเอดส์ มะเร็ง เป็นต้น อ้างเสริมสมรรถภาพทางเพศ อ้างรักษาอาการแขนขาไม่มีแรง อาการปวดเข่า ปวดเมื่อย อ้างช่วยเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ไขมันในเลือด โรคหัวใจ กระดูกทับเส้น ประสาทตาอักเสบ โรคไวรัสตับอักเสบ โรคปอด เป็นต้น ซึ่งข้อความโฆษณาเหล่านี้ล้วนเป็นการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตและเข้าข่าย หลอกลวงโอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น เพราะผลิตภัณฑ์อาหารไม่ใช่ยา ไม่สามารถอวดอ้างรักษาโรคได้ สำหรับผลิตภัณฑ์ยา พบการโฆษณาขายยาโดยแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ โฆษณาขายยาโดยมีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณโดยบุคคลอื่น และโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ พบการโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น


ภญ.ศรีนวล กล่าวด้วยว่า ขอเตือนผู้บริโภค ควรไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน อย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นข้อความโฆษณา หรือการนำบุคคลมีชื่อเสียงมาอ้างอิงว่าใช้แล้วได้ผล อย่ารีบตัดสินใจซื้อควรศึกษาข้อมูล สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพราะอาจได้รับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขออนุญาต และอาจมีสารอันตรายเป็นส่วนผสม ทำให้ได้รับผลข้างเคียงต่อร่างกาย ขาดโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องได้ หากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพฝ่าฝืนกฎหมาย โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง แจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่ กสทช. สายด่วน 1200 หรือที่ บก.ปคบ. สายด่วน บก.ปคบ.

 

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 10 ก.ย. 2556

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน