ตะลึงสสจ.อุบลฯชี้ผลเลือดพบเกษตรกร70% เสี่ยงจากสารพิษ-ยาฆ่าแมลง สหภาพยุโรปจับมือม.อุบลฯหนุนเกษตรอินทรีย์

new

สสจ.อุบลฯกังวลสารพิษเกษตรฉุดสุขภาพคนไทย ทรุด รองผู้ว่าฯรับนโยบายเสนอผุดศูนย์เกษตรอินทรีย์ ขณะที่สหภาพยุโรปจับมือ ม.อุบลฯ โชว์โครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ผุดงานวิจัยรับมือความเปลี่ยนแปลง สภาพอากาศ  ชี้ภายในปี2560เกษตรกรผ่านใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อย่างน้อย 100 ครอบครัว

สหภาพยุโรป ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แถลงข่าวเปิดตัวโครงการเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรด้านเกษตรอินทรีย์เพื่อความ มั่นคงทางอาหารและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จ.อุบลราชธานี ที่ห้องประชุมพิบูลมังสาหาร อาคารวิจัยเครือข่ายและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีผู้เข้าร่วมแถลงข่าวคือ นายสุทธินันท์ บุญมี รองผู้ว่าฯอุบลราชธานี นางอรุณศิริ โพธิ์ทอง ผู้ประสานงานโครงการ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย น.พ.สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขอุบลราชธานี  ดร.อินทิรา ซาฮีร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี นายสุชัย เจริญมุขยนันท ผู้อำนวยการสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ดำเนินรายการ มีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

นายสุทธินันท์ บุญมี รองผู้ว่าฯ อุบลราชธานี กล่าวว่า ในจังหวัดอุบลราชธานีมีพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์เพียง 0.389 เปอร์เซนต์ สาเหตุเพราะไม่มีแหล่งขายผลผลิต ไม่มีเครือข่าย ราคาผลผลิตไม่ต่างกับผลผลิตที่ใช้เคมี ขาดการประชาสัมพันธ์ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ยังไม่ชัดเจน ผู้บริโภคยังไม่เชื่อมั่น และขาดข้อมูล ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมกันผลักดันศูนย์อินทรีย์ อุบลราชธานี เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพของประชาชน

ด้านดร.อินทิรา  ซาฮีร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ประธานคณะทำงานโครงการกล่าวว่า โครงการเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรด้านเกษตรอินทรีย์เพื่อความมั่นคงทางอาหาร และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จ.อุบลราชธานี ดำเนินงานโดยคณะทำงานโครงการฯ ภายใต้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม  เช่น มูลนิธิประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานี

ปัจจุบันเกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้ผลิต ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเกษตรกรยังต้องกดดันตัวเองให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปหักลบกับ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น นอกจากนี้เกษตรกรยังต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและรายได้ของเกษตรกร จากสภาพปัญหาดังกล่าว โครงการฯ นี้ได้ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การผลักดันให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีการทำนาจากเคมีเป็นอินทรีย์ 200 ครอบครัว และภายในปี 2560 ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ 100 ครอบครัว มีการวิจัยพัฒนารูปแบบการทำนาอินทรีย์เพื่อปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพ อากาศ โดยการผสมผสานความรู้จากภูมิปัญญาในท้องถิ่นและข้อมูลจากงานวิจัย ดำเนินการให้มีสหกรณ์เพื่อส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร ทั้งการผลิต การแปรรูป การตลาด

นอกจากนี้ยังมีประเด็นด้านการขยายผลการทำเกษตรอินทรีย์สู่เกษตรกรที่สนใจ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เพื่อสนับสนุนนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลดีของการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับบุคคล องค์กร และหน่วยงานหลากหลายที่เกี่ยวข้องด้วย

ดร.อินทิรากล่าวต่อว่า โครงการนี้มีระยะเวลาการดำเนินงาน 4 ปี งบประมาณโครงการ 20 ล้านบาท โดยได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรปร้อยเป็นจำนวนเงิน 18 ล้านบาทมีพื้นที่การทำงานในจ.อุบลราชธานี จำนวน 11 พื้นที่ ได้แก่  กลุ่มเกษตรกรบ้านดอนหมู ต.ขามเปี้ย อ.ตระการพืชผล, กลุ่มเกษตรกรบ้านทองหลาง ต.ท่าโพธิ์ศรี อ.เดชอุดม, กลุ่มเกษตรกรบ้านหนองมัง ต.โนนกลาง อ.สำโรง, กลุ่มเกษตรกรบ้านหนองไฮ ต.โนนกลาง อ.พิบูลมังสาหาร, กลุ่มเกษตรกรบ้านคำสร้างไชย-บ้านบัวเทิง อ.สว่างวีระวงศ์, กลุ่มเกษตรกรตำบลม่วงใหญ่-ต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร, กลุ่มเกษตรกรบ้านดงบัง-บ้านหนองบ่อ ต.หนองบ่อ อ.เมือง,กลุ่มเกษตรกรบ้านจานตะโนน ต.หนองบ่อ อ.เมือง และกลุ่มเกษตรกรบ้านคูเมือง ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ

ทางด้าน น.พ.สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า พบว่า สถิติประชาชนเจ็บป่วยจากการเป็นมะเร็ง โรคตับ โรคไตมากขึ้น สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการกินของเรา ตับไตต้องทำหน้าที่เก็บและทำลายสารพิษ เมื่อมีสารพิษมากก็ทำงานหนักเจ็บป่วยกันมากขึ้น จากผลการตรวจเลือดเกษตรกรล่าสุดของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ พบว่าเกษตรกรกลุ่มเสี่ยง 100 คน พบ 70 คน เสี่ยงและไม่ปลอดภัยจากสารพิษฆ่าแมลง เป็นข้อมูลที่น่าตกใจมาก อ.กุดข้าวปุ้น เสี่ยงสูงสุดถึง 79 เปอร์เซนต์

แม้แต่เห็ดที่เรากินกันเป็นปกติไม่มีพิษ ปัจจุบันที่ขึ้นใกล้สวนยางพารา ก็ซึมซับพิษจากยาฆ่าหญ้ามาด้วย อันตรายมาก ข้าวก็เช่นเดียวกัน ข้าวเป็นพืชที่ดูดซึมสารพิษได้ดีมาก ทราบมาว่าบางพื้นที่ชาวนาฉีดยาฆ่าหญ้าสูงสุดถึง 5 ครั้ง พิษนั้นจะถูกดูดซึมไปที่ไหน การที่สหภาพยุโรปและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพร้อมภาคีเครือข่ายจับมือกันหนุน เกษตรกรให้ปลูกแบบอินทรีย์นั้นน่าสนับสนุนอย่างยิ่ง โรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดอุบลฯยินดีซื้อผลผลิตจากท่าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานครั้งนี้ มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ การแสดงละครสะท้อนวิถีการทำเกษตรที่เต็มไปด้วยการใช้สารเคมีในยุคปัจจุบัน ผ่านบทละครของกลุ่มสื่อใสวัยทีนในเรื่อง “เด็กชายอินทรีย์” อีกด้วย

ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร และ ทีมข่าวสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี 02 กันยายน 2556

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน