อย. เผย ปี 2554 ร่วมมือ บก.ปคบ. จับกุมผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน 1,089 รายการ มูลค่ากว่า 250 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์อาหารไม่ได้มาตรฐานถูกดำเนินคดีมากที่สุด ขณะที่การร้องเรียนโฆษณาเกินจริงยังครองแชมป์
พร้อมเดินหน้างานคุ้มครองผู้บริโภค ยกเครื่อง อย.น้อย เตรียมประสาน ศธ.ขอบรรจุในหลักสูตรการศึกษา
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินงานเพื่อให้ประชาชนได้บริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานและ ปลอดภัย โดยมุ่งเน้น 3 ด้านหลัก ได้แก่ การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพและสถานประกอบการให้ได้มาตรฐาน การคุ้มครองผู้บริโภค การพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งตลอดปี พ.ศ. 2554 อย.ได้พิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์-สุขภาพ 494,841 รายการ และพิจารณาอนุญาตสถานประกอบการ 23,835 ราย
เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์สุขภาพในท้อง ตลาดส่งตรวจวิเคราะห์ รวมทั้งสิ้น 655,335 รายการ พบว่าผ่านมาตรฐานร้อยละ 99.17 ตรวจสอบโฆษณาผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ แผ่นพับ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต นิตยสาร วิทยุ และอื่น ๆ รวม 32,412 รายการ ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 93.21 ตรวจสถานประกอบการ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยของสถานประกอบการด้านผลิตภัณฑ์ สุขภาพให้เป็นไปตามกฎหมาย 6,136 ราย ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 98.06 และพัฒนาสถานประกอบการให้ได้มาตรฐาน GMP จำนวน 410 แห่ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 96.10
ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ปี 2554 อย.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากทุกช่องทาง 1,241 เรื่อง พบว่าประเด็นร้องเรียนเรื่องโฆษณาเกินจริง/โฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตมากที่ สุด มีการตรวจสอบผู้กระทำความผิดและเปรียบเทียบปรับ จำนวน 1,153 ราย รวมมูลค่า 9,317,900 บาท การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด จำนวน 302 เรื่อง โดยผลิตภัณฑ์อาหารมีสถิติการดำเนินคดีสูงสุด การจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ สุขภาพ (ศปป.) อย. ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. ทั้งหมด 56 แห่ง ยึดของกลาง 1,089 รายการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 250 ล้านบาท
นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อยกเครื่องคู่มือ อย.น้อย พร้อมให้มีการจัดทำฐานข้อมูล อย.น้อยทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ยังจะประสานไปยังกระทรวงศึกษาธิการเพื่อนำข้อมูลในคู่มือบรรจุ อยู่ในหลักสูตรการเรียนเพื่อเผยแพร่ โดยจะให้ทันในปีการศึกษาหน้านี้ รวมไปถึงการเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อออนไลน์ จัดทำเป็นแอพพลิเคชั่นเพื่อให้สอดคล้องกับเด็กยุคใหม่
“ร้องเรียนโฆษณาเกินจริง ไม่ได้รับอนุญาตมากสุด”
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554 หน้า 12