อย.เข้มเฝ้าระวังน้ำมัน ทอดซ้ำ เสื่อมคุณภาพ ไม่ปลอดภัย! เร่งรณรงค์ลด ละ เลิก ใช้น้ำมันทอดซ้ำ นำร่องจังหวัดตรังเป็นตัวอย่างทำบันทึกข้อตกลงในโครงการปฏิบัติน้ำมันทอดซ้ำ เผย พบตัวอย่างน้ำมันที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 78 ราย จาก 337 ราย แนะผู้บริโภค ควรเปลี่ยนน้ำมันเมื่อทอดอาหารซ้ำ อย่าเห็นแก่ความสะดวกและประหยัด เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง
นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รอง เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า โรคมะเร็งคร่าชีวิตคนไทยจำนวนมากทุกปี โดยสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากการที่ผู้บริโภคได้รับน้ำมันทอดซ้ำ เพราะสารที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของน้ำมันทอดอาหารเป็นสารก่อกลายพันธุ์ และทำให้เกิดมะเร็งบนผิวหนัง เกิดเนื้องอกในตับ ปอด รวมทั้งพบความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดโรคมะเร็งที่ปอดกับสารสูดไอระเหยจากการ ผัดหรือทอดอาหาร หากสูดดมเป็นเวลานาน อย.ได้เฝ้าระวังการใช้น้ำมันทอดซ้ำกับผู้ประกอบการอาหารประเภททอดอย่างเข้ม งวดและมีการรณรงค์ไม่ให้ใช้น้ำมันทอดซ้ำมาโดยตลอดนพ.นรังสันต์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา หน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหารของ อย.และหน่วยเคลื่อนที่ฯ ส่วนภูมิภาค รวม 26 ศูนย์ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังความปลอดภัยของการใช้น้ำมันทอดอาหาร โดยเก็บตัวอย่างน้ำมันตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารโพลาร์โดยใช้เครื่องมือวัด แบบรวดเร็ว มีการสุ่มตรวจตามแผงลอย ตลาดสด ตลาดนัด และซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งผลจากการเฝ้าระวังเก็บตัวอย่างน้ำมันทอดอาหารในเขตกรุงเทพฯ ช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2553 จำนวน 337 ราย พบตัวอย่างน้ำมันที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 78 ราย ในอาหารประเภท เนื้อทอด หมูทอด ปลาทอด ไก่นักเก็ต ไก่ทอด และน้ำมันทอดกรอบอาหารประเภทแป้ง อาทิ พาย พัฟ แป้งทอด กล้วยแขก เฟรนช์ฟรายส์ และ ปาท่องโก๋ เป็นต้น ซึ่ง อย.ได้ตักเตือนและให้คำแนะนำพ่อค้าแม่ค้ามิให้ใช้น้ำมันทอดซ้ำอีกต่อไป และจะมีการตรวจเฝ้าระวังซ้ำอย่างต่อเนื่องอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากพบว่า ผู้ประกอบการที่นำน้ำมันใช้แล้วมาขายให้แก่พ่อค้าแม่ค้า รายย่อย ถือว่ากระทำผิดกฎหมาย มีความผิดฐานจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท
นายเกรียงเดช เข็มทอง รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจสถานการณ์การใช้น้ำมันเพื่อประกอบอาหาร ซึ่งมีการสุ่มเก็บน้ำมันทอดอาหารในจังหวัดตรัง เพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารโพลาร์ ปรากฏแนวโน้มการตรวจพบน้ำมันทอดอาหารที่มีค่าสารโพลาร์เกินมาตรฐานเพิ่มขึ้น ตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2549 (5.37%), 2550 (4.54%), 2551 (6.43%) และปี 2552 (12.12%) ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค จังหวัดตรัง จึงได้ดำเนินโครงการให้ชาวตรังร่วมใจเลิกใช้น้ำมันทอดซ้ำ โดยได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกันในหลายฝ่าย ทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตรัง พลังงานจังหวัดตรัง โรงเรียนที่มีธนาคารน้ำมันทอดซ้ำ และกลุ่มผู้ผลิตไบโอดีเซลจังหวัดตรัง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดตั้งธนาคารน้ำมันทอดซ้ำในโรงเรียน อำเภอละ 1 โรงเรียน พร้อมสร้างระบบกำจัดน้ำมันที่ใช้แล้วไม่ให้เข้าสู่กระบวนการผลิตอาหาร อีกทั้งเพื่อสร้างภาคเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในด้านการลดปัญหา การใช้น้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งในวันนี้ (3 ก.ย.) ถือเป็นฤกษ์ดีที่ได้มีการลงนามร่วมกันระหว่างหน่วยงานดังกล่าว พร้อมใจให้ชาวตรังบริโภคอาหารที่ปลอดภัย
นพ.ไพศาล เกื้ออรุณ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ นับว่า ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและชาวตรัง ที่จะไม่ได้รับอันตรายจากการใช้น้ำมันทอดซ้ำ นอกจากนี้ เกิดความร่วมมืออันดีระหว่างภาคีด้วยกันที่จะดำเนินกิจกรรมลดปัจจัยเสี่ยง จากการใช้น้ำมันทอดซ้ำ ทำให้โครงการ “ปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดตรัง” ประสบความสำเร็จ โดยได้รับการสนับสนุนจากแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมกันนี้ ยังได้ขยายเครือข่ายไปยังโรงเรียน อย. น้อยในการจัดตั้งธนาคารน้ำมันทอดซ้ำในโรงเรียน อำเภอละ 1 โรงเรียน เพื่อเป็นจุดรับน้ำมันที่ใช้แล้วจากครัวเรือน ชุมชน และโรงเรียน ให้สามารถนำน้ำมันที่ใช้แล้วไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ใช้ในกระบวนการผลิตไบโอดีเซล ทำสบู่ เป็นต้น เป็นการสร้างระบบการกำจัดน้ำมันที่ใช้แล้วไม่ให้เข้าสู่กระบวนการผลิตอาหาร
สำหรับโรงเรียนในจังหวัดตรังร่วมมือลงนามในครั้งนี้ 12 แห่ง ได้แก่ สภาราชินี จุฬาภรณราชวิทยาลัย บ้านควนโพธิ์ วัดนิกรรังสฤษฎ์ สามัคคีศึกษา สวัสดิ์รัตนาภิมุข กันตังรัษฎาศึกษา ทุ่งยาวผดุงสิทธิ์ วังวิเศษ รัษฎา สิเภาประชาผดุงวิทย์ และหาดสำราญวิทยาคม และจะขยายไปยังโรงเรียนอื่นๆ ของจังหวัดในอนาคตอีกด้วย สิ่งสำคัญในการปฏิวัติใช้น้ำมันทอดซ้ำ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ชาวตรังแข็งแรง
ทั้งนี้ ขอให้ผู้บริโภคอย่าซื้อน้ำมันที่ผ่านการใช้แล้วมาทอดต่อ โดยควรซื้อน้ำมันในภาชนะบรรจุปิดสนิทที่มีฉลากชัดเจนและมีเครื่องหมาย อย.ที่มีรายละเอียดครบถ้วน ที่สำคัญ ควรสังเกตลักษณะของน้ำมัน ถ้าเป็นน้ำมันปาล์มต้องมีสีเข้มบ้าง เนื่องจากมีสารเบต้าแคโรทีน แต่ต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น ผงสีดำ หรือตะกอนขุ่นขาว เพราะหมายถึงการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน หากซื้อน้ำมันแบ่งใส่ถุงจำหน่ายที่ไม่มีฉลาก ควรสังเกตลักษณะของน้ำมัน เช่น สี ความใส และต้องไม่มีตะกอน และสอบถามถึงชนิดรวมทั้งแหล่งที่มาของน้ำมันที่แบ่งมาจำหน่าย เพื่อความปลอดภัยต่อการบริโภค หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้น้ำมันทอดซ้ำ หรือพบแหล่งจำหน่ายใดคาดว่าใช้น้ำมันทอดซ้ำ โปรดสอบถาม และแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย.1556
.............................................................................................................
ที่มา :
ASTVผู้จัดการออนไลน์ | 3 กันยายน 2553 18:38 น. |