อย.เผยผลตรวจสอบการแสดง ฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์พบไม่มีการแสดงฉลาก 3.81% และแสดงฉลากไม่ถูกต้องถึง 87.5% เตือนผู้ผลิตเนื้อสัตว์ทุกรายปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท แนะซื้อลูกชิ้นที่มีฉลากกำกับแสดงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ทั้งชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อที่ตั้งผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต เป็นต้น ถ้าไม่มีฉลาก อย่าซื้อมาบริโภค และควรปรุงให้สุกด้วยความร้อนทุกครั้งก่อนบริโภค ป้องกันการได้รับเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและ ยา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จากนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์สุขภาพของนายจุ รินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง อย.ก็ได้รุกหนักเพื่อสนองนโยบายดังกล่าว สำหรับกรณีพบปัญหาลูกชิ้นปลาเรืองแสง ซึ่งทำให้ประชาชนหวั่นวิตกจะเป็นอันตรายต่อการบริโภค อย.ได้ดำเนินการตรวจสอบทั้งเก็บตัวอย่างลูกชิ้นปลาที่พบปัญหาเพื่อส่งตรวจ วิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และตรวจสถานที่ผลิตและวัตถุดิบในการผลิต โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ซึ่งผลการตรวจสถานที่ผลิตอาหาร ชื่อ บริษัท บู้ฮวดฟู้ดส์โปรดักส์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร พบผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นปลา ตราปลาทะเล และลูกชิ้นปลา ตราบู๊ฮวด สูตร 1 แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ไม่ระบุวันเดือนปีที่ผลิตหรือวันเดือนปีที่หมดอายุ ไม่แสดงน้ำหนักสุทธิ เป็นต้นอีกทั้งผลของการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นปลาและวัตถุ ดิบ รวมจำนวน 5 ตัวอย่าง พบข้อบกพร่อง 4 ตัวอย่าง คือ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (สุก) พบแบคทีเรียเรืองแสงภายใต้ยูวี (ซูโดโมนาส พูทิดา : Pseudomonas putida) 2 ตัวอย่าง และวัตถุดิบ พบเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค 2 ตัวอย่าง ได้แก่ เนื้อปลาดิบผสมแล้ว 1 ตัวอย่าง พบเชื้อเอส.
ออเรียส (S.aureus) และส่วนผสม 1 ตัวอย่าง พบเชื้อเอส.ออเรียส (S.aureus) และบาซิลลัส ซีเรียส (B.cereus) พร้อมกันนี้จากการสำรวจสถานที่ผลิต ชื่อบริษัท บุญพงษ์ ซีฟู้ดส์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ จ.สมุทรสงคราม ปรากฏพบข้อบกพร่องในกระบวนการผลิต และการทำความสะอาดอุปกรณ์ นอกจากนี้ จากผลการตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 29 ตัวอย่าง
พบข้อบกพร่องจำนวน 19 ตัวอย่าง ในวัตถุดิบและอุปกรณ์ คือ พบแบคทีเรียเรืองแสงในที่มืด และพบแบคทีเรียเรืองแสงภายใต้ยูวี (ซูโดโมนาส แอรูจิโนซา : Pseudomonas aeruginosa) ส่วนโต๊ะแล่ปลา พบเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรควิบริโอ คลอเรลลา (Vibrio Cholera Non-01, Non-0139) จำนวน 1 ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (สุก) ไม่พบข้อบกพร่อง 3 ตัวอย่าง สำหรับการตรวจพบแบคทีเรียเรืองแสงในที่มืด หรือพบแบคทีเรียเรืองแสงภายใต้ยูวี ซึ่งจัดเป็นเชื้อฉวยโอกาสที่สามารถทำอันตรายต่อผู้ป่วยที่มีบาดแผลได้ แต่จะถูกทำลายได้ด้วยความร้อน ในส่วนคดี ในชั้นแรกได้ตักเตือนบริษัทที่พบกระทำผิด และจะดำเนินคดีอย่างเข้มงวดหากพบกระทำผิดซ้ำอีก
เลขาธิการ อย.กล่าวแนะผู้บริโภคที่จะบริโภคลูกชิ้นให้ปลอดภัย ควรนำมาอุ่นหรือปรุงให้สุกทุกครั้งเมื่อประกอบอาหาร และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นที่มีฉลากอาหารกำกับ โดยประกอบด้วยชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุสำหรับอาหารที่ผลิตในประเทศ ชื่อและที่ตั้งของผู้นำเข้าและ ประเทศผู้ผลิต
สำหรับอาหารนำเข้า แล้วแต่กรณี ปริมาณสุทธิเป็นระบบเมตริก วันเดือนและปีที่ผลิต หรือวันเดือนและปีที่หมดอายุการบริโภค หรือวันเดือนและปีที่อาหารยังมีคุณภาพหรือมาตรฐานดี โดยมีข้อความว่า “ผลิต” หรือ “ควรบริโภคก่อน” กำกับไว้ด้วยแล้วแต่กรณี สำหรับผู้จำหน่ายควรให้ความใส่ใจในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้องทั้งการ ควบคุมอุณหภูมิ และการป้องกันการปนเปื้อนอย่างเข้มงวด
เลขาธิการ อย.กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้กฎหมายการบังคับแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ให้ถูกต้อง มีผลแล้วตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2553 ซึ่งจากการสุ่มตรวจ
สอบการแสดงฉลาก ผลิตภัณฑ์ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ปรากฏพบผลิตภัณฑ์ไม่มีการแสดงฉลาก จำนวน 11 ตัวอย่าง คิดเป็น 3.81% และแสดงฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 252 ตัวอย่าง คิดเป็น 87.5% ซึ่งเป็นเพียงบางส่วนจากทั้งหมดของบริษัทผู้ผลิตทั่วประเทศ โดยได้เปรียบเทียบปรับแก่ผู้ผลิตที่ดำเนินการไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท จึงขอให้ผู้ผลิตปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยมีการแสดงฉลากให้ถูกต้อง และขอให้ผู้บริโภคมั่นใจ โดย อย.จะเฝ้าระวังตรวจสอบต่อไปอย่างต่อเนื่องให้ครบทุกแหล่งผลิต เพื่อให้ลูกชิ้นที่จำหน่ายทุกแผงในตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตมีความปลอดภัยต่อ การบริโภค หากพบเห็นแหล่งผลิต/จำหน่ายลูกชิ้นใดที่ไม่แน่ใจในความปลอดภัย โปรดแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย.1556
.........................................................................................................................
ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 กรกฎาคม 2553 14:22 น.