27 สิงหาคม 2550
เรื่อง ขอให้ยับยั้งการทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นา(Field Trial)
เรียน ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี
ตามที่ ศ.ธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ ศ.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน และนายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เตรียมการนำเสนอวาระการประชุมเพื่อให้มีการทบทวนมติคณะรัฐมตรีเมื่อวัน ที่ 3 เมษายน พ.ศ.2544 เพื่ออนุญาตให้มีการทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นา (Field Trial) นั้น
องค์กรต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแทนขององค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และองค์กรเกษตรกรซึ่งประกอบไปด้วย มูลนิธิชีววิถี(BioThai) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เห็นว่าการตัดสินใจให้มีการปลูกและทดลองจีเอ็มโอในไร่นาโดยที่มิได้มีกฎหมาย ว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และปราศจากมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการทดลองจะทำให้เกิดปัญหาการปน เปื้อนทางพันธุกรรม(Genetic Contamination) ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาดังนี้
1) การผสมข้ามของพืชจีเอ็มโอที่อยู่ระหว่างการทดลองในสภาพไร่นากับพันธุ์พืช ทั่วไป จะทำให้เกษตรกรต้องตกเป็นทาสของบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติที่ถือครองสิทธิ บัตรพืชจีเอ็มโอดังกล่าว ตัวอย่างเช่น มะละกอจีเอ็มโอซึ่งทดลองโดยกรมวิชาการเกษตรนั้น แท้ที่จริงแล้วเจ้าของสิทธิบัตรคือมหาวิทยาลัยคอร์แนล และบริษัทมอนซานโต้
2) การผสมข้ามของพันธุ์พืชจีเอ็มโอกับพันธุ์พืชพื้นเมืองจะเป็นการทำลายความ หลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ทั้งๆที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพมาก ที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง
3) การปนเปื้อนทางพันธุกรรมยังทำให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกทั้งๆที่เป็นสินค้า เกษตรทั่วไปและผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมอินทรีย์ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้ประกอบการ และเกษตรกรไทยโดยส่วนรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
4) พืชดัดแปลงพันธุกรรมส่วนใหญ่มียีนต้านทานยาปฎิชีวนะ (Antibiotic Marker Gene) ซึ่งนอกเหนือจากถูกห้ามมิให้ส่งออกไปยังตลาดกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป(EU) และบางประเทศแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลกระทบที่ผู้บริโภคคนไทยจะต้านทานยาปฎิชีวะ และเกิดผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลในระยะยาว
กลุ่มองค์กรตาม ท้ายจดหมายฉบับนี้ขอเรียกร้องให้ฯพณฯ ยุติความพยายามของกลุ่มนักวิจัยจีเอ็มโอและบรรษัทข้ามชาติที่อยู่เบื้องหลัง การผลักดันให้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวโดยทันที ทั้งนี้โดยเหตุผล 3 ประการคือ
1) ไม่มีการวิจัยเรื่องจีเอ็มโอใดๆที่เป็นเร่งด่วนที่จะทำให้ประเทศไทยต้องล้า หลังทางเทคโนโลยีแต่ประการใด เพราะงานวิจัยที่อยู่ระหว่างการทดลองและสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นงานวิจัยของต่างชาติ (เช่นกรณีฝ้าย และข้าวโพด) หรืออ้างว่าเป็นการวิจัยของนักวิจัยไทยแต่แท้จริงกลับเป็นกรรมสิทธิ์ของต่าง ชาติ (เช่นมะละกอจีเอ็มโอต้านทานโรคใบด่างจุดวงแหวน) และถ้าหากมีความจำเป็นที่จะต้องทดลองจริงๆก็สามารถทดลองได้ในระดับห้องปฎิ บัติการ หรือโรงเรือน
2) กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวข้องกับการทดลองซึ่งทำให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมถึงสอง ครั้งสองครา ไม่ว่าจะเป็นกรณีการหลุดลอดของฝ้ายจีเอ็มโอเมื่อปี 2542 และกรณีมะละกอจีเอ็มโอเมื่อปี 2547 โดยกรณีล่าสุดนั้นการปนเปื้อนทางพันธุกรรมเกิดขึ้นจาก “คนใน” กรมวิชาการเกษตรเอง (โปรดอ่านเอกสารและฟังซีดีที่แนบมาประกอบ) กระทรวงเกษตรฯ ไม่เคยแสดงให้เห็นว่าจะสามารถควบคุมการปนเปื้อนทางพันธุกรรมได้ และมิได้จัดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างโปร่งใส และเปิดเผยความจริงต่อสาธารณชน หน่วยงานนี้จึงหมดความชอบธรรมโดยประการทั้งปวงที่จะผลักดันให้มีการทดลอง ปลูกจีเอ็มโอในระดับไร่นา
3) การคงมติห้ามทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นามิได้ขัดขวางการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ แต่เห็นว่าในกรณีที่ไม่มีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ รัฐบาลควรอนุญาตให้มีการทดลองจีเอ็มโอเฉพาะที่เป็นการทดลองในสภาพปิด (Containment)ได้เท่านั้น การทดลองจีเอ็มโอในสภาพเปิดหรือการทดลองในระดับไร่นา(Field Trial) จะดำเนินการได้ ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพก่อน มิฉะนั้นจะเกิดเหตุการณ์ปนเปื้อนดังกรณีฝ้ายจีเอ็มโอ และมะละกอจีเอ็มโอ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่มีที่สิ้นสุด
องค์กรตามท้ายจดหมายฉบับนี้ขอเรียกร้องให้รัฐบาลของ ฯพณฯ ดำเนินการ 3 ประการ ดังนี้
1) ให้มีการเปิดเผยผลสรุปของคณะกรรมการตรวจสอบการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอ เมื่อปี 2547 ซึ่งมี ศ.ธีระ สูตะบุตร เป็นประธาน และมีการสรุปเบื้องต้นว่าการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอเกิดจาก “คนภายใน” เอง รวมทั้งให้เปิดเผยผลการสอบสวนเจ้าหน้ากรมวิชาการเกษตร 35 คนที่เกี่ยวข้องกับกรณีการทดลองดังกล่าว
2) มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรียกร้องให้มีการเพิกถอนการจด สิทธิบัตรไวรัสใบด่างจุดวงแหวนของไทย ซึ่งนายเดนิส กอนซาลเวส และมหาวิทยาลัยคอร์แนลเป็นผู้ได้สิทธิผูกขาดดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 ทั้งๆที่ไวรัสใบด่างจุดวงแหวนที่ใช้ในการทดลองจีเอ็มโอนั้น เป็นทรัพยากรชีวภาพของประเทศ และมีกฎหมายระหว่างประเทศให้การรับรอง นอกเหนือจากนี้ให้มีการเปิดเผยร่างข้อตกลง(MOU)ของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งจะทำให้คนไทยที่ปลูกมะละกอต้องพึ่งพาต่างชาติในท้ายที่สุด
3) ให้มีการผลักดันและปรับปรุงร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพอันเนื่องมาจาก สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อให้มีหลักเกณฑ์การคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรและผู้บริโภค การคุ้มครองผลกระทบต่อสุขภาพ/สิ่งแวดล้อม การชดเชยความเสียหาย รวมทั้งบทลงโทษที่เหมาะสมในกรณีที่มีการละเมิดกฎหมาย เพื่อป้องกันและควบคุมปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากพืชจีเอ็มโอในอนาคต
คณะรัฐมนตรีต้อง ตัดสินใจทางนโยบายโดยคำนึงถึงผลประโยชน์และผลกระทบโดยรวม โดยคำนึงถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มิใช่ตัดสินใจจากแรงผลักดันของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา บรรษัทข้ามชาติ และนักวิจัยจีเอ็มโอกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น เพราะแม้แต่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีความพยายามที่จะผลักดันให้มีการทดลองและปลูกพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา เมื่อปี 2547 แต่ก็ได้ตัดสินใจถอนวาระเรื่องจีเอ็มโอออกจากการประชุมของคณะรัฐมนตรีในที่ สุดเมื่อมีหลายฝ่ายคัดค้าน
รัฐบาลนี้เป็น เพียงรัฐบาลชั่วคราวจึงไม่ควรตัดสินใจเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและขัด แย้งกับผลประโยชน์และความเห็นของคนส่วนใหญ่ อย่างน้อยต้องรักษามาตรฐานการบริหารประเทศที่รับฟังเสียงของประชาชนไม่น้อย ไปกว่ารัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ผ่านมา
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
(นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ)
มูลนิธิชีววิถี (BioThai)
(นางสาวสารี อ๋องสมหวัง)
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
(นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน)
สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
(นางสาวทัศนีย์ วีรกันต์)
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก