สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน บทความชิ้นนี้ถือเป็นบทความแรกที่ผมได้มีการสื่อสารกับทุกท่านหลังจากหลาย บทความก่อนหน้านี้เป็นเพียงการนำข่าวมาบอกให้ทุกท่านทราบ
จากบทความล่าสุดผมได้ส่งบทความเกี่ยวกับสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของของกินปลอมขึ้นบนเว็ปซึ่งตามบทความก็ได้มีการกล่าวถึง ไข่ปลอม ปลาหมึกแห้งปลอม และสาหร่ายปลอมหลังจากนั้นผ่านมาเกือบสองเดือน ขณะนี้ปรากฎข่าวการร้องเรียนเรื่องสาหร่ายปลอมขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น ดังนี้
"ขอนแก่น - น.พ.คิมหันต์ ยงรัตนกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เผยว่าได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคในเขตเทศบาลนครขอนแก่นว่ามีการนำ สาหร่ายอบแห้งไปต้มแล้วไม่ละลายและพบว่าเป็นแผ่นคล้ายพลาสติกที่เคยเป็นข่าว มาว่า ซื้อมาจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเมืองขอนแก่น บรรจุในถุงพลาสติกใสสีแดง น้ำหนักสุทธิ 30 กรัม ผลิตโดยบริษัทแห่งหนึ่งในภาคกลาง จากการที่ตรวจสอบพบว่าเมื่อนำสาหร่ายไปแช่น้ำแล้วสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ว่าสีของสาหร่ายจะไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากเม็ดสีกระจายไม่เท่ากัน ส่วนขอบไม่เรียบมีรอยหยัก เนื้อสัมผัสลื่นไม่แข็งกระด้าง มีกลิ่นคาว และมีความยืดหยุ่นจะขึ้นอยู่กับในแต่ละสายพันธุ์ของสาหร่าย โดยเจ้าหน้าที่ได้เก็บสาหร่ายทะเลอบแห้งดังกล่าวส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ กรุงเทพฯ ซึ่งจะทราบผลภายใน 15 วัน
น.พ.คิมหันต์ กล่าวต่อว่าหากมีการตรวจพบว่าเป็นพลาสติกจะจัดว่าเป็นอาหารปลอมมีโทษจำคุก ตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท ผู้บริโภคสามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ขอนแก่น หรือสายด่วน อย.โทร. 1556 เพื่อจะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป"ที่มา วันที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6913 ข่าวสดรายวัน
นอกจากนั้นยังได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับสาหร่ายปลอมโดยเป็นหนึ่งในเรื่องร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเรื่องนี้เข้ามาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2552 โดยผู้ร้องได้รับประทานก๋วยเตี๋ยวพร้อมน้ำซุปที่ใส่สาหร่ายทะเล ที่ร้านแห่งหนึ่ง ถนนสีลม กรุงเทพ ฯ ขณะกำลังรับประทานพบว่าสาหร่ายที่ตนทานไม่เหมือนสาหร่ายปกติ โดยได้โทรศัพท์ไปสอบถามลักษณะของสาหร่ายปลอมจาก อย. และเมื่อเทียบลักษณะที่ได้ทราบกับสิ่งที่ตนเจอ รู้สึกว่าคล้ายกัน จึงได้โทรศัพท์มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิ ฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปซื้อตัวอย่างอาหารที่ได้รับการร้องเรียนเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 52 และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบโดยห้องปฏิบัติการ
จากเรื่องข่าวที่เกิดขึ้น และเรื่องร้องเรียนที่ได้เล่าให้ฟัง จะเห็นได้ว่า เรื่องสาหร่ายปลอมไม่ใช่เรื่องไกลตัวที่เราควรเพิกเฉย จึงได้เขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อให้ทุกท่านพีงระวัง และอย่าชะล่าใจกับสิ่งที่ตนได้ทาน แม้ว่า อย. จะเคยเก็บตัวอย่างสาหร่ายตรวจไปแล้วครั้งหนึ่งก็ตาม
ยังคงมีข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับอาหารปลอมนอกเหนือจากสาหร่ายในรอบเดือนนี้ก้นอีก นั่นคือ ข่าว การจับ ผงชูรสและน้ำปลาปลอม โดยมีเนื้อหาข่าวดังนี้:
อย.เตือน ปชช.ระวังผงชูรส-น้ำปลาปลอม หากพบแจ้งทันทีตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ ปอศ. เข้าตรวจค้นโรงงานไม่มีชื่อ อยู่ในซอยบางกระดี่ 1 ถนนพระราม 2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน หลังจากได้รับการร้องเรียนว่า มีการแอบลักลอบ กักตุนสินค้าจำนวนมาก แต่จากการตรวจค้น กลับพบน้ำปลายี่ห้อทิพรส และผงชูรส ยี่ห้ออายิโนะโมะโต๊ะ จำนวนกว่า 150,000 ชิ้น แต่เมื่อนำไปตรวจสอบ พบว่าเป็นน้ำปลาและผงชูรส ปลอมเครื่องหมายการค้า
พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า น้ำปลาที่พบมีส่วนผสมจากเกลือ น้ำเปล่า และน้ำกระดูกวัว เช่นเดียวกับ ผงชูรสที่มีการซื้อผงชูรสไม่ได้มาตรฐาน นำมาแยกบรรจุเป็นซอง โดยสินค้าทั้ง 2 ชนิด จะกระจายนำไปขายตามตลาดนัดตามจังหวัดต่างๆ ในราคาถูก จึงฝากเตือนผู้บริโภคระมัดระวัง หากพบสินค้าราคาถูกกว่าปกติ ขอให้หลีกเลี่ยงการซื้อบริโภค เนื่องจากอาจเกิดอันตรายได้
ด้านนายแพทย์นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ฝากเตือนประชาชนว่าขอให้สังเกตฉลากสินค้าที่เคยบริโภค หากพบความผิดปกติอย่าแกะฉลาก ให้รีบไปร้องเรียน อย.ทันที หรือหากรับประทานแล้ว เกิดอาการวิงเวียน ท้องเสีย อาเจียน หรือผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์ทันทีที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 10 พ.ย. 52 เวลา 17:54 น.