ผู้ป่วยช็อปปิ้งยามากที่สุด มียาเหลือเป็นขยะยาติดบ้าน
ข้าราชการมีสิทธิซวยรับปีใหม่ ชมรมพิทักษ์สิทธิฯชี้ชัดประกาศกรมบัญชีกลางลิดรอนการเข้าถึงยา โรงพยาบาลแบกรับภาระค่าใช้จ่าย แพทยสภาร่วมยันยาชื่อสามัญมีไม่ครบตามยาต้นแบบ หลายตัวก็แทนกันไม่ได้ วอนชะลอการบังคับใช้ หามาตรการอื่นและฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้อง
พล.ต.หญิง พูลศรี เปาวรัตน์ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ กล่าวว่า การที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ออกระเบียบการเบิกจ่ายยาในระบบกองทุนสวัสดิการข้าราชการ โดยการจ่ายยาชื่อสามัญ (Generic) จะให้โรงพยาบาลบวกกำไรได้สูงร้อยละ 100-200 ของต้นทุนค่ายา และการจ่ายยาต้นแบบ (Original) บวกกำไรได้ไม่เกินร้อยละ 3 ของราคาที่จัดซื้อและไม่เกินกว่าราคากลางที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ กำหนด ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 เป็นต้นไป ถือลิดรอนสิทธิการได้รับยาและเข้าถึงยาของข้าราชการ เพราะยาชื่อสามัญยังไม่มียาที่หลากชนิดพอในการรักษาผู้ป่วยให้หายเร็วได้ อาจทำให้โรคหายช้าหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงทำให้รายได้โรงพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยาชื่อสามัญหายไปด้วย จนกระทบต่องบต่างๆ เช่น การจ้างพนักงาน การช่วยผู้ป่วยยากไร้ เป็นต้น
พล.ต.หญิง พูลศรี กล่าวอีกว่า ข้า ราชการส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ประกาศดังกล่าว เพราะคำสั่งถูกส่งไปยังโรงพยาบาล จึงเหมือนถูกมัดมือชก อย่างไรก็ตาม ระเบียบดังกล่าวไม่ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงเหมือนที่กรมบัญชีกลางคาดไว้ แต่จะทำให้มีการร้องเรียนหรือฟ้องร้องแพทย์เพิ่มขึ้น เพราะอาจจ่ายยาไม่ถูกโรค เนื่องจากไม่มียาที่ถูกกับโรคจ่ายให้ผู้ป่วย ที่ผ่านมา ชมรมฯ ได้ยื่นหนังสือถึงกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร แล้ว หากกรมบัญชีกลางยังไม่ชะลอคำสั่งก็เท่ากับว่าข้าราชการไทยจะต้องซวยรับปี ใหม่ และยังบีบงบสาธารณสุขรับปีใหม่โดยการออกคำสั่งบังคับแพทย์ในการสั่งยา
พล.ต.หญิง พูลศรี กล่าวด้วยว่า ชมรมฯจะไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ก.คลัง และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วันที่ 17 ธ.ค.นี้ เพื่อให้ชะลอประกาศดังกล่าว เนื่องจากจากการยื่นหนังสือถึงกรรมาธิการสาธารณสุขก่อนหน้านี้ ได้มีการหารือกันว่าจะเสนอให้ สธ.และ ก.คลัง ชะลอคำสั่งไปก่อน แต่ชมรมฯก็ยังไม่มั่นใจ และเกรงว่า ก.คลัง จะไม่รับคำสั่งดังกล่าว เพราะยังไม่เห็นความคืบหน้าที่เป็นลายลักษณ์อักษร
ด้าน พล.ต.หญิง สลิลลา วีระรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ในฐานะที่ปรึกษา ผอ.รพ.พระมงกุฏเกล้า กล่าวว่า ยา ชื่อสามัญยังมีไม่ครบทุกตัวของยาต้นแบบ อาจส่งผลต่อการรักษาโรคบางโรค เช่น โรคจิตเวช สมองเสื่อม มะเร็ง ลมชัก และโรคติดเชื้อบางโรค ทำให้ผู้ป่วยอาการกำเริบหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้สั่งห้ามให้ซื้อยาต้นแบบ แต่การให้คิดกำไรไม่เกินร้อยละ 3 จะทำให้โรงพยาบาลขาดค่าบริหารจัดการ ส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของคนไข้ อย่างไรก็ตาม เรื่องยาเป็นเรื่องสำคัญ หากรัฐบาลยังไม่มีองค์กรเข้ามาควบคุมคุณภาพ ประกาศดังกล่าวจะส่งผลให้โรงพยาบาลขาดทุน จนอาจต้องปลดพนักงานออก สิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรทำคือ จัดทำระบบไอทีฐานข้อมูลเชื่อมโยงประวัติการใช้ยาของคนไข้ระหว่างโรงพยาบาล ของรัฐทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ เพื่อลดช่องโหว่ในการจ่ายยาซ้ำซ้อน ดังนั้น กรมบัญชีกลางควรชะลอคำสั่งและกลับไปจัดการเรื่องระบบเชื่อมโยงข้อมูลดัง กล่าว และมีกฎหมายที่เข้มงวดเอาผิดบริษัทยาที่ไม่ได้คุณภาพ
นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ตามหลักการถ้าทำได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เกิดการประหยัด แต่จากการหารือกับหลายฝ่าย อาทิ ห้องยา แพทย์ ก็ไม่มีใครเห็นด้วย เนื่องจากทำให้ต้องเลิกซื้อยาหลายตัว แต่หากนำมาขายก็จะได้กำไรเพียงร้อยละ 3 ซึ่งไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แพทย์ก็มีความเห็นว่า ยาบางตัวอาจจะทดแทนกันได้ แต่ยาหลายตัวจะมีปัญหา เพราะมันไม่เหมือนของต้นแบบ ส่งผลให้ไม่มีใครกล้าเอาชีวิตคนไข้มาเป็นเดิมพัน เพราะในระยะยาวจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต รัฐบาลเองก็ไม่กล้ารับประกัน และยังไม่มีการตรวจสอบที่ชัดเจน ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบคือข้าราชการ และโรงพยาบาลที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ดัง นั้น แพทยสภาได้ขอให้คณะกรรมาธิการสาธารณสุข ยื่นหนังสือไปยังรัฐบาล ขอให้ชะลอการบังคับใช้ และหามาตรการอื่น เนื่องจากจะมีผู้ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะรัฐบาลก็ยังมีข้อมูลไม่พร้อม ยังไม่เคยรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่าแต่ละฝ่ายมีมุมมองความคิด เห็นอย่างไร
เวลา 17.40 นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ว่า การที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ออกระเบียบการเบิกจ่ายยาในระบบกองทุนสวัสดิการข้าราชการ โดยการจ่ายยาชื่อสามัญ (Generic) จะให้โรงพยาบาลบวกกำไรสูงร้อยละ 100-200 ของต้นทุนค่ายา ส่วนการจ่ายยาต้นแบบ (Original) บวกกำไรไม่เกินร้อยละ 3 ของราคาที่จัดซื้อและไม่เกินกว่าราคากลางที่ คกก.พัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 เป็นต้นไปนั้น ขอ ยืนยันว่า กรมบัญชีกลางไม่ได้ห้ามเบิกค่ายาต้นแบบ และไม่ได้เป็นการลิดรอนสิทธิการเข้าถึงยาของข้าราชการ เพราะแพทย์มีหน้าที่จ่ายยาให้เหมาะสมกับโรค หากเป็นไปได้ก็อยากให้ใช้ยาชื่อสามัญก่อน แต่หากโรคนั้นๆ ไม่มียาชื่อสามัญจำเป็นต้องใช้ยาต้นแบบ ก็ให้สั่งจ่ายยาต้นแบบ
"แพทย์ ที่ทำการรักษามีหน้าที่สั่งจ่ายยาให้เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องมานั่งคิดเรื่องผลกำไร หน้าที่นี้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารโรงพยาบาล ซึ่งแนวทางนี้ยืนยันว่าโรงพยาบาลจะไม่ขาดทุน เพราะยาชื่อสามัญสามารถเบิกได้เยอะขึ้น เช่น ซื้อมา 1 บาท เบิกคืนได้ 3 บาท ก็เท่ากับว่าได้เงินคืน 2 บาท ส่วนยาต้นแบบสมมติซื้อราคา 10 บาท เบิกคืนได้ 10.30 บาท จากเดิมเบิกคืนได้ 11.50 บาท เมื่อเทียบแล้วก็ไม่ถือว่าขาดทุน” รักษาการ รมว.สาธารณสุข กล่าว
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กรมบัญชีกลางยังยืนยันว่าจะทำการประเมินภายหลังจากดำเนินการใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ให้เดินหน้าใช้ประกาศดังกล่าวในวันที่ 1 ม.ค.2557 2.ให้มีการทบทวนแก้ไขปัญหาเป็นระยะทุก 3 เดือน หากพบปัญหาระหว่างดำเนินการก็จะทำการแก้ไข และ 3.จะมีการปรับปรุงสวัสดิการของราชการในส่วนอื่นๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าเบิกห้องพิเศษ ค่าอุปกรณ์ทางการแพทยืที่ยังเบิกไม่ได้ หรือเบิกได้แต่น้อย เพื่อให้เห็นว่าเงินที่เหลือจากการใช้ยาชื่อสามัญแทนยาต้นแบบนั้นไม่ได้หาย ไปไหน แต่จะนำกลับมาพัฒนาเรื่องสวัสดิการต่อไป
"ระยะ แรกอาจมีความยุ่งยากในเรื่องบัญชีบ้าง แต่โดยระบบแล้วหากประหยัดเงินได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าผลเสีย ทั้งนี้ สธ.ได้มีการมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำรายชื่อยาต้นแบบให้ชัดเจน และให้มีการทำประชาพิจารณ์กับผู้เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียนแพทย์ ว่าเห็นด้วยกับการทำชื่อยาหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ส่วนกรณีที่กังวลว่าจะมีการใช้ยาที่ไม่มีคุณภาพนั้น สธ.จะแก้ปัญหานี้โดยการมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำหน้าที่ในการตรวจ สอบคุณภาพของยาก่อนนำมาใช้ ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่าจะเป็นการกีดกันทางการค้านั้น ก็ยืนยันว่าไม่มีการกีดกันแต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้ายาประมาณร้อยละ 75 ของยาทั้งหมดอยู่แล้ว” รักษาการ รมว.สาธารณสุข กล่าว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 ธันวาคม 2556