ได้เวลาลงทุน สร้างเด็กไทยด้านโภชนาการ

“โภชนาการของเด็กไทยวันนี้ คือ อนาคตของชาติในวันหน้า” ปัจจุบันพบว่า เด็กไทยมีไอคิวต่ำกว่าเพื่อนบ้านบางประเทศ เพราะได้รับการส่งเสริมด้านโภชนาการได้ไม่ดีนัก แต่รู้หรือไม่ว่า การบริโภคอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการส่งผลโดยตรงต่อการเสริมสร้าง พัฒนาการของเด็ก จากผลสำรวจของกรมอนามัยที่พบว่า เด็กไทยไม่นิยมบริโภคอาหารเช้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งการบริโภคอาหารกลางวันของเด็กกลับไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการเท่าที่ ควร

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย และสมาคมโภชนาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดทำโครงการ “พัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย” ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ องค์กรท้องถิ่นเห็นความสำคัญของการสร้างโภชนาการที่สมวัย และนำทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นมาลงทุนสร้างสุขภาพที่ดีให้กับเด็ก

“เด็กไทยต้องมีโภชนาการสมวัย คือ ไม่เตี้ย ไม่ผอม ไม่อ้วน และฉลาด ” อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ และ ผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)แสดงเจตนารมณ์ที่ต้องการเห็นเด็กไทยมีสุขภาพที่ดี

อาจารย์สง่า บอกอีกว่า การขับเคลื่อนโครงการฯ ใน 9 จังหวัดนำร่องคือ นนทบุรี สมุทรปราการ เพชรบุรี ลำปาง เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี ภูเก็ต สงขลา รวมทั้ง กรุงเทพฯ เป็น 10 จังหวัด เป็นการพัฒนาศักยภาพให้ท้องถิ่นและชุมชนบริหารจัดการงานด้านโภชนาการสมวัย ของพื้นที่ได้ เน้นการจัดการโครงการอาหารกลางวัน โดยเริ่มทำในชุมชน โรงเรียนระดับประถม และศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือ เด็กนักเรียนอายุระหว่าง 6 เดือน-14 ปี

ผลการสำรวจตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า อาหารกลางวันตามศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน มีสัดส่วนของเนื้อสัตว์ ผัก ในปริมาณน้อย เด็กไม่ได้กินผลไม้ ทำให้สารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายและสมองของเด็ก เด็กอาจอิ่มในเชิงปริมาณแต่ไม่ได้อิ่มในเชิงสารอาหาร ทำให้เด็กขาดสารอาหารที่เพียงพอต่อร่างกายและเซลล์สมอง ทั้ง 4 หน่วยงานจึงร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ผลักดันให้ค่าอาหารกลางวันของเด็กเพิ่มขึ้นจากรายหัวละ 13 บาท ต่อคน/วัน เป็น 20 บาท ต่อหัว/วัน

 

การสร้างโภชนาการที่สมวัยให้กับเด็ก โดยการส่งเสริมคุณภาพอาหารกลางวันภายโรงเรียน เป็นการลงทุนที่ได้ผลคุ้มค่า ไม่ใช่แค่ให้เด็กอิ่มท้อง แต่หมายถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กตั้งแต่วัยเยาว์ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพ และเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต

อาจารย์สง่า กล่าวเพิ่มเติมว่า เงินกองทุนอาหารกลางวัน สามารถนำมาพัฒนาด้านโภชนาการได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาศักยภาพของคนให้มีความสามารถในการจัดการด้านอาหารและโภชนาการใน โรงเรียนอย่างเช่น แม่ครัวต้องได้รับการอบรมเรื่องโภชนาการที่ถูกต้อง การสนับสนุนให้องค์กรส่วนท้องถิ่นนำผู้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับ โภชนาการมาให้ความรู้ภายในชุมชนและโรงเรียน รวมถึงการพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เหมาะสมของเด็ก และท้ายสุดคือ การกำหนดมาตรฐานกลางการประมูลอาหารในโรงเรียน โดยนำรูปแบบโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ที่ทรงทำไว้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน มาใช้เป็นต้นแบบในการพึ่งตนเองของโรงเรียนในท้องถิ่น

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการยังแนะนำสารอาหารที่เด็กวัยเรียนควรได้รับในแต่ละมื้อด้วยว่า โภชนาการที่เด็กได้รับในหนึ่งมื้อจะแตกต่างกันตามช่วงวัย อย่างเด็กช่วงอนุบาล-ประถมศึกษา ควรได้รับพลังงานจากอาหาร 280-400 กิโลแคลอรีต่อมื้อ ส่วนสารอาหารที่เด็กควรได้รับในแต่ละมื้อคือ ต้องครบ 5 หมู่ ทั้งข้าว เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และไขมัน ซึ่งจะให้สารอาหารโปรตีน คาร์โบไฮเดรต แร่ธาตุ วิตามิน และไขมัน

“อาหารกลางวันในโรงเรียน ทุกมื้อควรมีผักเป็นองค์ประกอบ ต้องไม่มีรส หวาน มัน เค็ม จัด ควรมีผลไม้เป็นอาหารว่างอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 วัน เด็กควรกินไข่ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ฟอง และในหนึ่งสัปดาห์ เมนูอาหารควรจะมีส่วนประกอบของ ตับสัตว์ และเลือดสัตว์ เพื่อป้องกันโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ควรใช้เกลือ น้ำปลา ซอส ซีอิ๊ว เสริมไอโอโดดีน เป็นเครื่องปรุง ส่วนนมซึ่งเป็นอาหารเสริม ควรให้เด็กดื่มวันละ 1 แก้ว และควรเป็นนมรสจืด” ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการแจกแจง

เพราะโภชนาการที่เหมาะสมกับเด็ก ย่อมเป็นกำลังชั้นดี ที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ทั้งร่างกาย ความคิด จิตใจ  และเป็นอนาคตของชาติได้ต่อไป

 

 

เรื่องโดย : พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน