ข่าว/บทความรถโดยสาร

คนไทยตายจากอุบัติเหตุทางถนนปีละ 1.5 หมื่นราย

s 51118082

คนไทยตายจากอุบัติเหตุทางถนนปีละ 1.5 หมื่นราย ทุกวันมี 42 ครอบครัวมีคนตาย กระทบเศรษฐกิจปีละ 2 แสนล้านบาท รัฐบาลประกาศ มุ่งมั่นแก้ปัญหาอุบัติเหตุ ยึด 5 เสาหลัก โพลชี้ คนไทย ร้อยละ 91.4 เปลี่ยนความเชื่อ อุบัติเหตุไม่ใช่เวรกรรม ชี้รัฐต้องลงทุนแก้ปัญหาจุดเสี่ยงเจ็บตายซ้ำซาก

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งเกิดความพิการ ซึ่งทุกฝ่ายจำเป็นต้องตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเพื่อช่วยกันป้องกันและหยุดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยสถานการณ์ความสูญเสียจากอุบัติเหตุในประเทศไทย จากข้อมูลใบมรณบัตร ปี 2559 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 15,448 ราย มีผู้พิการรายใหม่ ที่เป็นเหยื่อจากอุบัติเหตุทางถนนอีกกว่า 5,000 ราย หรือทุกวันจะมี 42 ครอบครัวที่ต้องสูญเสียสมาชิก และมีอีก 15 ครอบครัวต้องรับภาระเลี้ยงดูผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศรวมกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี

นายชยพล กล่าวต่อว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นอย่างดี โดยมุ่งมั่นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหา จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) ตั้งแต่ปี 2554 ได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุ ทั้งระดับนโยบาย อำนวยการ และปฏิบัติการ เพื่อให้กลไกทำงานมีประสิทธิภาพ กำหนดให้จัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนทุก 3 ปี เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางถนน โดยบูรณาการการทำงาน 5 เสาหลัก คือ

1.การสร้างกลไกการบริหารจัดการด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพ

2.การสร้างความปลอดภัยด้านโครงสร้างถนนและสภาพแวดล้อมริมทาง

3.การส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานพาหนะที่ปลอดภัย

4.การสร้างวินัยจราจรให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน

และ 5.การช่วยเหลือและรักษาผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน

โดยที่ผ่านมาได้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาความปลอดภัยทางถนนใน 5 ประเด็น คือ ดื่มแล้วขับ การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ใบอนุญาตขับรถ รถโดยสารสาธารณะ และการคาดเข็มขัดนิรภัย

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ กล่าวถึงผลสำรวจเรื่อง “อุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องของใคร” สำรวจระหว่างวันที่ 5-14 ตุลาคม 2560 จากการสำรวจ 1,196 ตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76.7 เคยเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับตัวเอง โดยร้อยละ 91.4 เชื่อว่าเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ความปลอดภัยทางถนน มีเพียงร้อยละ 32.1 ที่เชื่อว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม ถือเป็นครั้งแรกที่พิสูจน์ได้ว่า คนไทยเปลี่ยนความเชื่อจากอุบัติเหตุเป็นเรื่องของเวรกรรมมาเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ คือ สภาพถนน คน รถ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 96.6 เห็นว่ารัฐควรลงทุนในจุดที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก และร้อยละ 63.9 ระบุว่า การแก้ปัญหาเป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคม รองลงมาคือ รัฐบาล คสช. องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ตามลำดับ

ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การร่วมมือระหว่างฝ่ายต่างๆ ในการตรวจจับเพื่อป้องกัน การรายงานและการดูแลผู้บาดเจ็บ อาจไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายการลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนลงได้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กระทรวงคมนาคม ศวปถ. มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย สสส. ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคมทั้งในและต่างประเทศ เช่น สอจร. สคอ. AIP มูลนิธิบลูมเบิร์ก ฯลฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จึงได้จัดให้มีการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนนครั้งนี้ คาดหวังให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานได้รับทราบสถานการณ์ องค์ความรู้ ทิศทางนโยบาย อุปสรรคปัญหาและร่วมเสนอนโยบาย เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

การสัมมนาในปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “ลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน” Invest for Sustainable Road Safety ในวันที่ 6-7 ธ.ค. ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยประเด็นสำคัญในการประชุมปีนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปปฏิบัติใช้ต่อไป คือ

1.การลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน

2.ประชารัฐเพื่อสังคม กับความปลอดภัยทางถนน

3.ลงทุนเพื่อสังคมร่วมใจป้องกันภัยทางถนน

4.มิติใหม่บังคับใช้กฎหมาย Road Safety 4.0

5.รถพยาบาลปลอดภัย

6.มิติทางสังคม กับการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย

และ 7.ระบบใบขับขี่ใหม่กับความปลอดภัยทางถนน

ทั้งนี้ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาฯ สามารถทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.roadsafetythai.org และลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น Road Safety ได้ทั้งระบบ IOS และ Android ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ข้อมูลจาก สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ

พิมพ์ อีเมล